รองโฆษกวิป สนช.เผยพรุ่งนี้ถกโครงการรถไฟ 2 เส้นทางสายเศรษฐกิจที่ไทยจับมือกับจีน รัฐให้สภาเห็นชอบก่อนกันครหา ชี้หากต้องการให้จีนดำเนินต้องออกกฎหมายรองรับกันโครงการล่ม ตัดปัญหาแบบที่ผ่านมาทั้งแท็บเล็ต-ข้าว ต้องพร้อมก่อนลงนาม รับชาติอื่นสนใจร่วมได้ พร้อมหนุนโครงการเต็มที่
วันนี้ (3 ธ.ค.) นายยุทธนา ทัพเจริญ รองโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย แถลงภายหลังการประชุมวิป สนช.ว่า ในการประชุม สนช.วันพรุ่งนี้ (4 ธ.ค.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งมี 2 เส้นทาง คือ โครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ทั้งสองเส้นทางเข้าเงื่อนไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 23 ที่ระบุว่าต้องผ่านความเห็นชอบจากสภากรณีที่มีการใช้ทรัพยากรบางส่วนมีผลกระทบเศรษฐกิจ สังคมโดยรวม แต่ก็มี สนช.บางคนแย้งว่าไม่เข้ามาตรา 23 แต่เข้ามาตรา 17 ขอหารือสภาโดยไม่ลงมติ ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีความเห็นว่าควรให้สภาเห็นชอบเพื่อไม่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเรื่องนี้มีผลผูกพัน การก่อสร้างจะเริ่มปี 59 หากรัฐบาลใหม่มาก็จะมีปัญหาว่าทำไมไม่ผ่านสภา
นายยุทธนากล่าวว่า โครงการดังกล่าวประเทศจีนได้มีการศึกษาเส้นทางไว้แล้ว ส่วนวิธีการแม้จะเป็นรูปแบบจีทูจี หรือรัฐบาลกับรัฐบาล แต่หากจีนไม่ลงนามในสัญญาเองในอนาคตและให้เอกชนมาดำเนินการ สิ่งที่ตามมาคือกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ใช้อยู่รองรับได้หรือไม่ และหากจะต้องมีการเปิดประมูล แต่ทางจีนจะต้องส่งมาเพียงรายเดียว เพราะหากส่งมากกว่า 1 รายก็อาจจะมีปัญหากับกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แต่หากจีนไม่สามารถชนะการประมูลก็จะเป็นจุดอ่อน ดังนั้น หากต้องการให้จีนเข้ามาดำเนินการจะต้องออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
“ในอดีตมีการทำสัญญาจีทูจีกับจีน ทั้งการซื้อขายแท็บเล็ต หรือขายข้าว ก็ไม่มีการประมูล เมื่อรัฐบาลถูกร้อง ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ เป็นการถ่วงเวลา โครงการไม่เกิด หรือรถดับเพลิง พอลงมือปฏิบัติจริงให้เอกชนมาทำ โดยจ้างเอกชนไทยก็เกิดปัญหาอีก เราเกรงว่าจะเกิดปัญหาลักษณะนี้อีก จึงควรออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับ หากรัฐบาลจีนทำไม่ได้ คนที่จะมาทำต่อก็ต้องเป็นคนของจีน ก็ต้องมีข้อยกเว้นมิเช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาความล่าช้า โครงการล้ม หรือถ่วงเวลา ดังนั้นหากรัฐบาลกับรัฐบาลลงนามด้วยกันจริง แต่เวลาทำจะให้เอกชนมาทำ แต่รัฐบาลจะไม่ค้ำประกันหากมีการเปลี่ยนไป ดังนั้นหากเราไม่ปิดกั้นหรือหาทางแก้ไขไว้ หากรัฐบาลชุดนี้ไปแล้วข้าราชการอาจโดนร้องได้”
นายยุทธนากล่าวว่า เมื่อร่างบันทึกความเข้าใจผ่านสภาแล้วยังไม่ได้ลงมือทำทันที จะต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานโดยรัฐ เช่นการศึกษาความเป็นไปได้ หรือหัวรถจักร ดังนั้นต้องเตรียมการให้พร้อมก่อนที่จะมีการลงนาม จึงจำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากสภาตามมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนเรื่องจุดคุ้มทุนจะมีการพูดกันภายหลังจากได้ข้อตกลงว่าจะให้ใครเข้ามาทำ โดยทางจีนต้องการขอสำรวจก่อน หากเห็นว่าคุ้มจึงจะตกลงแต่ ถ้าตกลงไม่ได้ก็ต้องเลิกไป หากสภาให้ความเห็นชอบก็จะมีการลงนามในเดือนธันวาคม โดยจะต้องมีการออกกฎหมายหรือระเบียบมารองรับเพื่อให้โครงการนี้เกิดขึ้น ส่วนเหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้เพราะเป็นเส้นทางที่ต่อจากจีน ไปลาว และเข้ามายังอ่าวไทย และในอนาคตจะไปออกทะเลอันดามัน หากประเทศอื่นๆสนใจก็สามารถมาทำได้เพราะยังมีหลายเส้นทาง เช่นประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจจะทำเส้นทางมุกดาหาร-เพชรบูรณ์-ตาก ซึ่งตนให้การสนับสนุนโครงการนี้เต็มที่
สำหรับร่างข้อตกลงบันทึกดังกล่าวถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยทางฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ ส่วนทางฝ่ายไทยจะมีการให้จีนเข้ามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการเตรียมโครงการ รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการและพยายามให้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2559 ในการ ประเมินมูลค่าโครงการให้เป็นการหารือระหว่างทั้งสองฝ่าย รวมทั้งให้องค์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ประเมิน นอกจากนี้ให้จัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วมขึ้นใหม่ชุดหนึ่ง เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตามข้อบันทึกความเข้าใจ สำหรับไทยให้ รมว.คมนาคมเป็นประธานร่วม ส่วนจีนให้ ผอ.คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติเป็นประธานร่วมในกรณีที่สาระสำคัญของบันทึก ขัดหรือแย้งกับบนทึกความเข้าใจใดๆ ที่เกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ลงนามระหว่างปี 2554-2556 ให้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้มีผลเหนือกว่า โดยจะมีผลใช้บังคับในวันที่ลงนาม และมีผลบังคับใช้ 5 ปี