xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.ขัดใจ รบ.ปัดตั้งกองทุนอินฟราฯ ชี้เงินสดพอลงทุนเฟส 2 กว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
บอร์ด ทอท.มั่นใจเงินสดเหลือเฟือ ใช้เงินสดหมุนเวียนลงทุนสุวรรณภูมิเฟส 2 ทั้งหมดกว่าแสนล้าน พร้อมเห็นชอบปรับแผนขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 เดิม ลดวงเงินจาก 6.25 หมื่นล้าน เหลือ 6.17 หมื่นล้าน โดย “ประสงค์” ยอมรับอาจกระทบสภาพคล่องช่วงปี 60 ที่เริ่มก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 เล็งกู้ในประเทศ 6 พันล้าน ส่วนจัดตั้งกองทุนอินฟราฯ ขอปรับไปใช้ลงทุนในโครงการอื่นแทน เหตุต้นทุนการเงินสูงไป



นายประสงค์ พูนธเนศ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (18 ก.พ.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบปรับปรุงแผนและขยายระยะเวลาโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) วงเงิน 62,503.214 ล้านบาท (ปีงบประมาณ 2554-2560) ซึ่งได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2553 ใหม่ โดยแบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ เริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 ประมาณเดือนมีนาคม 2559 และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 2 ประมาณเดือนตุลาคม 2560 มีกรอบงบประมาณหลังปรับปรุงลดลงเหลือ 61,738.420 ล้านบาท (ราคากลาง โดยรวมสำรองราคาเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างก่อสร้าง 1,761.600 ล้านบาท) โดยจะสรุปรายละเอียดเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมภายในเดือนนี้

โดยก่อนหน้านี้ ทอท.ได้เสนอแผนก่อสร้างทางวิ่งสำรอง ความยาว 2,900 เมตร วงเงิน 20,243.106 ล้านบาท และแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 (ด้านเหนือ) วงเงิน 27,684.392 ล้านบาทไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว โดยจะเสนอ ครม.พิจารณาได้ภายในเดือนนี้ ซึ่งทางวิ่งสำรองจะเริ่มก่อสร้างในเดือนตุลาคม 2558 อาคารใหม่เริ่มก่อสร้างมีนาคม 2559 แล้วเสร็จพร้อมกันในปี 2560 จากนั้นจะเริ่มก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และแผนงานในเฟส 2 เดิมทันที ซึ่งแผนงานก่อสร้างจะสอดคล้องกับการเติบโตของผู้โดยสาร โดย ทอท.จะใช้เงินลงทุนจากรายได้และเงินสดหมุนเวียนที่มีประมาณ 44,000 ล้านบาทลงทุน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบต่อสภาพคล่อง กระแสเงินสดติดลบประมาณ 6,000 ล้านบาทในช่วงเดือนตุลาคม 2560 ระยะเวลาสั้นๆ ประมาณ 6 เดือนเท่านั้น โดย ทอท.วางแผนว่าจะหาแหล่งเงินกู้ภายในประเทศมาสริมสภาพคล่อง

ส่วนนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ ทอท.จัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือกองทุนอินฟราฟันด์ฯ ลงทุนในโครงการสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้น จะเร่งสรุปรายละเอียดเหตุผลข้อดีข้อเสียเพื่อชี้แจงต่อไป ทั้งนี้ การที่ ทอท.เลือกใช้เงินทุนที่มี ไม่เลือกวิธีการกู้เงินหรือตั้งกองทุนอินฟราฯ มาดำเนินการเฟส 2 นั้นพิจารณาจากต้นทุนการเงินที่ต่ำที่สุดเป็นหลักและต้องดูแลผู้ถือหุ้นของ ทอท.ด้วย โดยเฉพาะการตั้งกองทุนอินฟราฯ นั้นเป็นการนำเงินในอนาคตมาจ่ายผลตอบแทนเพื่อจูงใจ จะมีดอกเบี้ยสูงกว่า หากอนาคตมีเหตุการณ์ที่ทำให้รายได้ไม่มีหรือไม่เป็นไปตามคาด นอกจากนี้ กระบวนการและการทำเอกสารนำส่งบัญชีจะมีความซับซ้อนมากกว่าการบริหารองค์กรที่มีผู้ถือหุ้น จึงต้องเลือกวิธีที่ต้นทุนทางการเงินต่ำที่สุด

ทั้งนี้ หากนโยบายรัฐบาลยังคงต้องการให้ ทอท.เป็นหน่วยงานนำร่องในการจัดตั้งกองทุนอินฟราฯ นายประสงค์กล่าวว่า ยังมีโครงการอื่นที่สามารถนำมาดำเนินการได้ เช่น การขยายขีดความสามารถท่าอากาศยานเชียงใหม่เพิ่มจาก 8 ล้านคนต่อปีซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 7 ล้านคนต่อปีแล้ว โดยอยู่ระหว่างจัดทำแผน โดย ทอท.กำหนดให้ท่าอากาศยานเชียงใหม่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารหรืออาจจะเป็นการลงทุนในกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการบิน (Non Aero) การพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ การลงทุนพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ของ ทอท. หรือกิจกรรมด้าน CSR เป็นต้น ซึ่งจะศึกษารายละเอียดและนำเสนอแผนต่อไป

สำหรับแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 61,738.420 ล้านบาท ระยะที่ 1 วงเงินรวม 17,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.1 งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน เพื่อรองรับอากาศยาน จำนวน 28 หลุมจอด (หลุมจอดระยะไกลสำหรับเที่ยวบินระหว่างประเทศ) โดย 8 หลุมจอดสำหรับรองรับอากาศยานขนาด A-380 (Code F) และ 20 หลุมจอดสำหรับรองรับอากาศยานขนาด B-747-400 (Code E) พร้อมก่อสร้างระบบทางขับเพื่อเข้าสู่ลานจอดรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมพื้นที่ประมาณ 960,000 ตารางเมตร

1.2 งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยาย เพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมต่อในเขตปฏิบัติการบิน รวมถึงงานระบบไฟฟ้าเครื่องกลภายในอุโมงค์ และรองรับระบบต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต 1.3 งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เพื่อจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภคให้กับงานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน และอุโมงค์ ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้าแรงสูง 115 kV สถานีไฟฟ้าหลักหลังที่ 2 (MTS2) ระบบจำหน่ายไฟฟ้า 24 kV และสถานีไฟฟ้าย่อยระบบจำหน่าย ระบบประปา ระบบน้ำเสีย และระบบการจัดการขยะ

ระยะที่ 2 ประกอบด้วย 2.1 งานก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) วงเงินประมาณ 28,600 ล้านบาท 2.2 งานก่อสร้างส่วนขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก 2.3 งานก่อสร้างอาคารสำนักงานสายการบินและที่จอดรถด้านทิศตะวันออก 2.4 งานติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover : APM) โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2559 และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 2 ประมาณเดือนตุลาคม 2560 โดยเมื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 แล้วเสร็จในปี 2562 จะทำให้มีขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 70 ล้านคนต่อปี และในปี 2563 จะแล้วเสร็จทั้งโครงการ มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 85 ล้านคนต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น