“ประจิน” เร่ง ทอท.เจรจาชดเชยเสียงสุวรรณภูมิเฟสแรก ยุติใน ก.พ. 58 หวั่นกระทบก่อสร้างรันเวย์สำรอง และเฟส 2 ที่แนวเส้นเสียงจะปรับเปลี่ยนอีก ชี้รันเวย์สำรองจำเป็นต้องสร้างใน 1-2.5 ปีเพื่อซ่อมบำรุงใหญ่รันเวย์ปัจจุบัน พร้อมเร่ง ทอท.สรุปแผนตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้นักลงทุนไทยมีส่วนร่วม ซึ่งคาดว่าจะตั้งในปี 59
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. หาข้อยุติเรื่องการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการเปิดให้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งดำเนินการไปแล้วกว่า 90% โดยส่วนที่เหลือควรจะมีข้อยุติภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการก่อสร้างทางวิ่งสำรอง (รันเวย์) ซึ่งจะมีการขยายเส้นเสียงที่เกิน NEF 40 และที่อยู่ระหว่าง NEF 30-40 ในบางส่วน โดยยังมีชุมชนบริเวณด้านเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิประมาณ 75 ครอบครัวเรียกร้องให้ ทอท.รับซื้อสิ่งปลูกสร้างวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท แทนการชดเชยด้วยการจ่ายค่าปรับปรุงอาคาร จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.วรศักดิ์ นพสิทธิพร กรรมการผู้ช่วย รมว.คมนาคม รวบรวมข้อสรุปที่ผ่านมารวมถึงกรณี 75 ครอบครัวด้วย เพื่อแก้ปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน แทนที่จะยังคงเผชิญหน้าแล้วไม่สามารถหาข้อยุติได้
ทั้งนี้ การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบทางเสียงจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมินั้นมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวข้องทั้งปี 2549 ปี 2550 และปี 2556 โดยเบื้องต้น ทอท.รายงานว่า ชาวบ้าน 75 ครอบครัวนี้อยู่ในแนวเส้นเสียง NEF 30-40 ซึ่งตามมติ ครม.ให้ดำเนินการชดเชยจ่ายค่าปรับปรุงอาคาร โดยบ้านที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันส่วนใหญ่ได้ตกลงกับ ทอท.ไปแล้ว เมื่อต้องการขายแต่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ต้องให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพราะจะเกิดปัญหาบ้านติดกันยอมรับเงื่อนไขตามมติ ครม.ที่ให้ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารที่อยู่ไปแล้วอาจจะมีปัญหาผลกระทบตามมาได้ ซึ่งต้องมีแนวทางแก้ปัญหาด้วย ส่วน NEF มากกว่า 40 ให้ซื้อสิ่งปลูกสร้างหรือปรับปรุง
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ทอท.ควรก่อสร้างรันเวย์สำรอง ความยาว 2,900 เมตร ภายใน 1-2.5 ปี เพื่อให้สามารถทำการซ่อมบำรุงใหญ่ (Over haul) รันเวย์ที่ใช้งานในปัจจุบันได้ โดย ทอท.จะเสนอแผนขออนุมัติสร้างรันเวย์ก่อน ส่วนแผนด้านการเงินลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 นั้น ทอท.ได้เสนอมา 3 แนวทาง คือ ใช้เงินทุนหมุนเวียนของ ทอท.เอง ใช้เงินกู้ และจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งได้ให้นโยบาย ทอท.ไปพิจารณาในเรื่องการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ว่าควรจะเร่งดำเนินการเพื่อให้นักลงทุนไทยมีส่วนร่วมในโครงการ อะไรที่สามารถตั้งกองทุนมาดำเนินการได้ให้ทำก่อน ส่วนงานที่ใช้เงินลงทุนไม่มากมีแนวโน้มจะใช้เงินทุนของ ทอท.ดำเนินการ
ด้านนายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ว่า ทอท.ได้หารือแผนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปแล้วเบื้องต้น โดยจะมีการหารืออีกครั้งเร็วๆ นี้เพื่อสรุปรายละเอียดแผนการลงทุนเสนอบอร์ด ทอท.ในการประชุมวันที่ 21 มกราคม และจะสรุปแผนเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยจะเสนอขอดำเนินการการก่อสร้างรันเวย์สำรอง ระยะทาง 2,900 เมตร วงเงิน 19,000 ล้านบาท และอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ด้านทิศเหนือของท่าอากาศยาน (Multi-Function Terminal) วงเงิน 29,000 ล้านบาทก่อน และอีก 1 เดือนต่อมาจะเสนอก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Midfield Satellite) วงเงินประมาณ 20,000 ล้านบาท ส่วนการลงทุนนั้นนโยบายคมนาคมจะให้ออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อระดมเงินส่วนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะออกกองทุนได้ในปี 2559 ข้อสรุปวงเงินรอหลัง ครม.เห็นชอบก่อน
ส่วนการใช้สนามบินอู่ตะเภาเชิงพาณิชย์นั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า การหารือในระดับคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมกับกองทัพเรือเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2557 มีความเห็นตรงกันในการใช้สนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์แห่งที่ 3 แต่มีประเด็นเรื่องสถิติจำนวนผู้โดยสารที่อยู่ในหลักแสนคนต่อปี ซึ่งยังไม่มาก ในขณะที่กองทัพเรือได้รับงบประมาณในการปรับปรุงพื้นที่ และอาคารผู้โดยสาร ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารเป็น 3 ล้านคนต่อปี โดยจะแล้วเสร็จในปี 2559
ดังนั้น ในเร็วๆ นี้จะนัดหารือร่วมกับผู้บัญชาการทหารเรือ (ทร.) ในเรื่องนโยบาย เพื่อวางแผนในการพัฒนาระยะต่อไป เช่น ขอใช้พื้นที่ฝั่งตะวันออก ซึ่งอยู่ตรงข้ามอาคารผู้โดยสาร เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงเครื่องบิน รวมถึงการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดเพื่อให้รองรับเครื่องบินที่จะมาใช้บริการศูนย์ซ่อม โดยจะมีการแบ่งโซนพื้นที่และการเข้าออกให้ชัดเจนไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ด้านความมั่นคงของกองทัพเรือ และกรณีมีพื้นที่เหลืออาจจะมีการพิจารณาก่อสร้างรันเวย์ที่ 2 หลังปี 2562 เพื่อรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น
“พื้นที่ของทะเลด้านตะวันออก ตั้งแต่พัทยา ชลบุรี สัตหีบ อู่ตะเภา ระยอง จันทบุรี ตราด นั้นเป็นพื้นที่ที่มีทั้งสินค้า การท่องเที่ยว นักลงทุน ถือเป็นจุดขายของพื้นที่ หากมีการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภารองรับเป็นเชิงพาณิชย์จะต้องมีการประชาสัมพันธ์เพราะการเดินทางจะสะดวกมากขึ้น เพราะรองรับได้ทั้งเที่ยวบินประจำ และเที่ยวบินเช่าเหมาลำ ในขณะที่เส้นทางคมนาคมทางบกที่จะเชื่อมต่อมีทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ แก่งคอย-มาบตาพุด เป็นต้น และหากมีข้อตกลงร่วมกับกองทัพเรือที่ชัดเจน จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ เส้นทางสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา อีกด้วย”