ทอท.รื้อสุวรรณภูมิเฟส 2 ยอมล่าช้าอย่างน้อย 1 ปี
ล้มผลประโยชน์ขั้วการเมือง แก๊งเก่าผงาด ธุรกิจดิวตี้ฟรีกลับมาผงาดกุมผลประโยชน์เบ็ดเสร็จสุวรรณภูมิ ส่อทำประเทศเสียโอกาส “ฮับการบินในภูมิภาค”
บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ดำเนินแผนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะที่ 2 วงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท (รวมสำรองราคาและปริมาณงานเปลี่ยนแปลง 10% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และดอกเบี้ยระหว่างการก่อสร้าง 1,761.60 ล้านบาท) ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติแผนการลงทุนแล้ว โดย ทอท.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาบริหารจัดการโครงการ (Project Management Consultant : PMC) วงเงินตามสัญญาจ้าง 809.99 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%) ระยะเวลาดำเนินการ 70 เดือน เริ่มดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2555 และกำหนดขายเอกสารประกวดราคางานก่อสร้างกลางปี 2557
เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ โครงการขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 ถูกคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบ และต่อมา นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพกร ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ได้ระบุว่า ทอท.มีความจำเป็นต้องชะลอแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 ออกไปก่อน เนื่องจากอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจาก คตร. พร้อมกันนี้ ทอท.ได้มีการศึกษาและจัดทำรายละเอียดการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ (Multi-Function Terminal) ซึ่งจะรองรับผู้โดยสารได้ทั้งระหว่างประเทศและในประเทศได้ภายในอาคารเดียวกัน รวม 20 ล้านคนต่อปี วงเงินลงทุนรวมประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ดำเนินการภายใน 4 ปี
ท่าทีของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในช่วงแรกไม่เห็นด้วยกับแนวทางของ ทอท. และได้ตั้งคณะทำงานร่วมกระทรวงคมนาคม และ ทอท.เพื่อพิจารณากรณีที่ ทอท.เสนอปรับแผนขยายสุวรรณภูมิเฟส 2 แต่เหตุใดสุดท้ายจึงกลับเห็นด้วยและยอมเสียเวลาอีก 1 ปีเพื่อให้ ทอท.ปรับแผนลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 ดำเนินงานปี 2558-2561 สามารถรองรับเที่ยวบินได้ 68 เที่ยวบินต่อชั่วโมง รองรับผู้โดยสารได้ 65-71 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะรองรับปริมาณจราจรทางอากาศได้จนถึงปี 2563
ซึ่งจะดำเนินการใน 3 แผนงาน วงเงินรวม 66,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. โครงการตามแผนการลงทุน เฟส 2 เดิมบางรายการ วงเงินรวม 18,000 ล้านบาท คือ งานก่อสร้างลานจอดอากาศยาน จำนวน 28 หลุมจอด โดยเป็นหลุมจอดระยะไกลทั้งหมด พื้นที่รวม 960,000 ตารางเมตร งานก่อสร้างอุโมงค์ส่วนต่อขยาย เพื่อใช้เป็นถนนเชื่อมต่อในเขตปฏิบัติการบิน รวมถึงงานไฟฟ้าเครื่องกลภายในอุโมงค์ งานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2560
2. โครงการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) เส้นที่ 3 ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) ดังนั้นจึงจะดำเนินการก่อสร้างรันเวย์สำรองความยาว 2,900 เมตรก่อน โดยจะแล้วเสร็จในปี 2560 และเมื่อได้รับการอนุมัติ EHIA แล้วจะก่อสร้างให้ความยาวถึง 3,700 เมตรต่อไป โดยจะแล้วเสร็จในปี 2562
3. โครงการก่อสร้าง Multi-Function Terminal แบ่งเป็นงานออกแบบและก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 งานออกแบบและก่อสร้างระบบขนส่งผู้โดยสาร งานออกแบบและก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์ ระบบถนนภายในท่าอากาศยาน ระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (เอ็มดี) ทอท. ระบุว่า จะสรุปแผนลงทุนและรายละเอียดการพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 เสนอที่ประชุมบอร์ด ทอท.เห็นชอบได้ในการประชุมวันที่ 21 มกราคม 2558 จากนั้นจะเสนอกระทรวงคมนาคม, สศช., คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ซึ่งยอมรับว่าล่าช้าจากเดิมที่คาดว่า ทอท.จะสรุปได้ในเดือนธันวาคม 2557 เนื่องจาก เมื่อ ทอท.ได้หารือกับ สศช.แบบนอกรอบแล้วทาง สศช.ได้ให้ปรับปรุงรายละเอียดเพิ่มเติม โดยเฉพาะข้อดีของแผนที่ปรับใหม่เมื่อเปรียบเทียบกับแผนเดิมและรายละเอียดด้านการงิน เพราะถือว่าแผนที่ปรับใหม่ไม่ใช่แผนเดิมที่ ครม.ได้เห็นชอบไว้ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าภายในต้นปี 2558 (ไตรมาสที่ 2) จะสามารถประกาศร่าง TOR ประกวดราคาคัดเลือกที่ปรึกษาออกแบบรันเวย์สำรองได้แน่นอน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า สาเหตุของการปรับแผนลงทุนพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 เพราะแผนเดิมจะมีการขยายอาคารหลัก ซึ่งจะต้องทุบ “โครงการซิตี้ การ์เด้น” ร้านค้าในอาคารผู้โดยสารหลัก ซึ่งเป็นพื้นที่เชิงพาณิขย์ ของบริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ที่ก่อสร้างเป็นอาคาร 2 ชั้น บนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร มีพื้นที่ใช้สอย 2,500 ตารางเมตร ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนเกินจากสัญญาสัมปทาน และเคยถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) สอบสวนสมัยรัฐบาล คมช. แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนได้มีการไกล่เกลี่ยคดีคิงเพาเวอร์จนยุติข้อพิพาท และสรุปให้มีการประเมินพื้นที่ส่วนเกิน โดยให้เก็บค่าเช่าเพิ่มในส่วนของดิวตี้ฟรียังมีพื้นที่ส่วนเกินอีก 4,000 ตารางเมตร ร้านค้าเชิงพาณิชย์มีพื้นที่ส่วนเกิน 8,000 ตารางเมตร
แม้ต่อมานายประสงค์จะยืนยันว่าจะต้องทุบโครงการซิตี้ การ์เด้น เพราะเป็นจุดของสถานีรถไฟฟ้าหรือโมโนเรลพอดี ซึ่งตามแผนจะใช้พื้นที่ดังกล่าวในปี 2560 โดย ทอท.จะต้องชดเชยพื้นที่อื่นให้คิงเพาเวอร์
“ความพยายามในการปรับแผนสุวรรณภูมิเฟส 2 เป็นการยืนยันว่าผู้บริหาร ทอท.ในยุคนี้มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับกลุ่มคิงเพาเวอร์ และที่ต้องจับตามองต่อไปคือการต่อสัญญาสัมปทานคิงเพาเวอร์ เนื่องจากสัญญาเดิมจะหมดอายุในวันที่ 27 กันยายน 2559 ซึ่งมีข้อสังเกตว่า พล.อ.อ.ประจิน ไม่รู้เรื่องจริงหรือ”