xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจิน” เตรียมแผนสำรองลงทุนรถไฟทางคู่ เล็งกู้เงินใน ปท.บางส่วน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” เตรียมแผนสำรอง กู้ในประเทศ และตั้งกองทุนอินฟราฟันด์ฯ ลงทุนก่อสร้างรถไฟไทย-จีน กรุงเทพฯ-แก่งคอย-หนองคาย หลังจีนเสนอเงื่อนไขเงินกู้ดอกเบี้ย 2-4% เผยสูงเกินไป ชี้หากได้ต่ำสุดที่ 2% จะลดสัดส่วนเงินกู้จีนลงไม่ใช้ 100% แน่นอน เตรียมเจรจา 11-13 ก.พ.นี้ที่กรุงปักกิ่งเพื่อหาข้อยุติที่ชัดเจน พร้อมแบ่งสัดส่วนงานก่อสร้างผู้รับเหมาไทยกับจีน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ว่า กรณีที่รัฐบาลจีนเสนอให้ใช้การลงทุนรูปแบบ EPC (Engineering Procurement Construction) โดยให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 2-4% ปลอดหนี้ 4 ปีแรก ระยะเวลาชำระหนี้ 20 ปี โดยรัฐบาลไทยเป็นเจ้าของโครงการ จีนรับหน้าที่ออกแบบ จัดหาระบบ และก่อสร้าง ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร
เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุดนั้น อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวยังเป็นอัตราที่สูงเกินไปหากเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่น ดังนั้นจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวกับจีนที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน วันที่ 11-13 กุมภาพันธ์นี้

ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีแผนสำรองกรณีจีนยืนยันอัตราดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 2% โดยจะกู้เงินจากจีนบางส่วน ที่เหลือจะใช้เงินกู้ในประเทศมาดำเนินโครงการในช่วงแรก ซึ่งแม้อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะอยู่ที่ 3-4% ซึ่งสูงกว่าจีน แต่ข้อดีคือจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศได้ดีกว่า ซึ่งจากการประเมินขณะนี้มั่นใจว่าแหล่งเงินในประเทศมีพอแน่นอนสำหรับการลงทุนในช่วงแรก ส่วนระยะต่อไปอาจใช้วิธีการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน

“ที่ผ่านมาพบว่าธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกแห่งประเทศจีน หรือ Exim Bank จะให้กู้ปกติในอัตราดอกเบี้ย 3% แต่หากเป็นอัตราดอกเบี้ยพิเศษก็จะต่ำกว่า 3% ดังนั้นต้องเจรจารายละเอียดกับจีนในวันที่ 11-13 ก.พ.นี้ก่อน ทางไทยอยากได้อัตราดอกเบี้ยพิเศษ แต่หากจีนให้ดอกเบี้ยต่ำสุดที่ 2% ทางออกคือใช้เงินกู้จากจีนในสัดส่วนที่น้อยลงเพราะเรามีแผนสำรองไว้แล้วว่าจะหาแหล่งเงินกู้ในประเทศและการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐานในระยะต่อไป” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นอกจากนี้จะหารือในเรื่องสัดส่วนการก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานของผู้รับเหมาไทยและผู้รับเหมาจีน ซึ่งหลักการเบื้องต้นจะแบ่งตามความเชี่ยวชาญของแต่ละประเทศ เช่น งานฐานราก จะเป็นผู้รับเหมาไทย งานรางและไม้หมอน รวมถึงระบบและตัวรถจะใช้ผู้รับเหมาจีนเป็นหลัก เมื่อตกลงกันได้แล้วก็จะดำเนินการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน และหลังจากสรุปผลการหารือร่วมกันแล้วจะนำเสนอรูปแบบการลงทุนให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา หลังจากนั้นจีนจะส่งคณะทำงานเข้ามาสำรวจออกแบบได้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์-ต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อประเมินค่าก่อสร้างที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนการก่อสร้างจะเริ่มได้ในเดือนตุลาคม 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น