เตรียมลงนาม MOU รถไฟไทย-จีน 19 ธ.ค.นี้ เดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย สำรวจและกำหนดรูปแบบลงทุนรถไฟทางคู่ขนาดราง 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ใน ม.ค. 58 ด้าน “ทิสโก้” นำทีมนักลงทุนพบ “อาคม” ถามความชัดเจนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการตั้งกองทุนอินฟราฯ
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 19 ธันวาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายหลี เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน จะร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ (MOU) ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และแก่งคอย-กรุงเทพฯ ระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร
โดยหลังจากการลงนามแล้วฝ่ายจีนจะส่งตัวแทนมาหารือกับไทย 2 ครั้ง และไทยจะเดินทางไปหารือที่ประเทศจีน 1 ครั้ง เพื่อดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารร่วม เพื่อกำกับดูแลการดำเนินการตาม MOU และรายละเอียดการทำงาน เช่น การสำรวจเส้นทาง เทคนิค รูปแบบการลงทุน ซึ่งคาดว่าช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 2558 จะชัดเจน โดยไทยแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานร่วม ส่วนฝ่ายจีนให้ผู้อำนวยการคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Council) เป็นประธาน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ซึ่งได้นำคณะนักลงทุนสถาบันเข้าพบว่า นักลงทุนต้องการรับทราบนโยบายความชัดเจนเกี่ยวกับแผนงานโครงการทั้งหมดของกระทรวงคมนาคม ทั้งกรอบเวลาการดำเนินงานและรูปแบบการลงทุน ซึ่งได้ยืนยันว่าแผนจะมีความชัดเจนในวันที่ 23 ธันวาคมนี้ โดยหลักในการลงทุนนั้นจะต้องใช้กลไกของตลาดทุนเข้ามาช่วยแน่นอน โดยเฉพาะการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรูปแบบการลงทุนมีทั้งใช้งบประมาณ การกู้เงิน ร่วมทุนกับเอกชน หรือตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยการพิจารณาเลือกรูปแบบการลงทุนจะดูความเหมาะสมเป็นรายโครงการ ซึ่งหลักการนั้นโครงการที่มีการคืนทุนหรือได้ผลตอบแทนเร็ว เช่น รถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล และการลงทุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะ 2 มีความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนฯ แต่หากโครงการก่อสร้างถนน โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ระยะคืนทุนยาวไม่เหมาะเพราะจะไม่ดึงดูดนักลงทุน จะใช้งบประมาณเป็นหลัก ซึ่งจะเริ่มประกวดราคาในปี 2558
“ตอนนี้เรื่องรูปแบบลงทุนยังไม่ชัดเจน ส่วนหนึ่งต้องรอความชัดเจนนโยบายเรื่องการร่วมลงทุนเอกชน จากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership:PPP) ก่อนว่าจะมีโครงการประเภทไหนที่ให้เอกชนร่วมทุนบ้าง จากนั้นถึงจะแยกได้ว่าโครงการใดที่จะเป็นภาระงบประมาณ ใช้เงินกู้ หรือใช้กองทุนอินฟราฯ” นายอาคมกล่าว