คมนาคมถกแผนจัดทำงบประมาณปี 2559 เตรียมเสนอขอวงเงินกว่า 1.77 แสนล้านบาท มากกว่าปีก่อน 65% “ประจิน” เผยเน้นลงทุนระบบรางตามแผนยุทธศาสตร์ฯ 8 ปีและโครงข่ายถนนรับ AEC เผย 7 ก.พ.ได้ข้อสรุปค่าโดยสารรถร่วมฯ ขสมก.ได้ขึ้นกี่บาท
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด เพื่อมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณปี 2559 วันนี้ (5 ก.พ.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้เตรียมเสนอของบประมาณที่ 177,095 ล้านบาท โดยเมื่อเปรียบเทียบงบในปี 2558 เพิ่มขึ้นประมาณ 65.56% โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปี (2558-2565) ซึ่งจะมุ่งเน้นที่การพัฒนาระบบรางเป็นหลัก การพัฒนาทางหลวงเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน (AEC) และการเชื่อมโยงไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 ด่านชายแดน
สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี, สีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสีส้ม บางขุนนนท์-พระราม 9 นั้นจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ ซึ่งยอมรับว่ามีความล่าช้ากว่าแผนเดิมประมาณ 2 เดือน เนื่องจากต้องทำการปรับแบบสายสีส้มโดยเบี่ยงเส้นทางจากเดิมผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมต่อไปยังศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เปลี่ยนเป็นก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 9 โดยใช้สถานีพระราม 9 เป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า สายเฉลิมรัชมงคล ทำให้ดำเนินการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า โครงการที่มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจคือ ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ในการก่อสร้างรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ซึ่งการทำงานรวดเร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยจะมีการหารือครั้งสุดท้ายในวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ และจีนจะส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจเส้นทางได้ในปลายเดือนกุมภาพันธ์ จากเดิมที่วางแผนว่าจะเริ่มสำรวจได้ในเดือนมีนาคม 2558
ส่วนการดำเนินความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น ด้วยการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง (MOI) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมไทย-ญี่ปุ่นนั้น ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะแถลงความชัดเจนในวันที่ 9 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2558
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมของไทยเตรียมเสนอให้ผู้นำทั้ง 2 ประเทศหารือความร่วมมือโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน โดยมี 3 เส้นทางให้ญี่ปุ่นเลือก คือ แม่สอด (จ.ตาก)-พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ระยะทาง 770 กม. เส้นทางพุน้ำร้อน (จ.กาญจนบุรี)-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด จ.ระยอง ระยะทาง 339 กม. และเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 653 กม.