xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบสายสีแดงกว่า 8 พันล้าน ด้าน ร.ฟ.ท.-ปตท.ปิดดีลค่าเช่าที่สำนักงานใหญ่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.บิ๊กตู่ไฟเขียวเพิ่มงบก่อสร้างรถไฟสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) อีกกว่า 8.1 พันล้านตามเนื้องานที่เพิ่มขึ้น “ประจิน” จี้ ร.ฟ.ท.เร่งก่อสร้างหลังล่าช้าแล้ว 1 ปี ขณะที่ ร.ฟ.ท.-ปตท.ได้ข้อยุติเช่าที่ดิน สนง.ใหญ่ จ่ายเงิน 800 ล้าน พร้อมก่อสร้างที่พักพนักงานให้ พร้อมเห็นชอบ “พีระยุทธ” นั่งผู้ว่าฯ รฟม.คนใหม่

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (3 ก.พ.) ได้รับทราบการปรับเพิ่มวงเงินก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต จำนวน 3 สัญญา วงเงินรวม 8,140 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมนำเสนอ เพื่อรองรับระบบรถไฟฟ้าอื่นๆ ในอนาคต เช่น รถไฟความเร็วสูง เป็นต้น โดยแยกเป็นสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีกลุ่มกิจการร่วมค้า SU ประกอบด้วย บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ เป็นผู้รับงาน วงเงินเพิ่ม 4,315 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 29,826 ล้านบาท โดยมีเนื้องานที่เพิ่มขึ้น เช่น เพิ่มความยาวชานชาลาชั้น 3 และโครงสร้างทางวิ่งในสถานีกลางบางซื่อ, งานปรับโครงสร้างทางรถไฟช่วงเข้า-ออกสถานีกลางบางซื่อให้สอดรับกับการจัดวางทางรถไฟภายในสถานี, งานปรับและเพิ่มทางรถไฟราง 1 เมตรเข้า-ออกโรงซ่อมบำรุง และงานออกแบบทางรถไฟในอนาคตให้สอดคล้องกับพื้นที่บริเวณเดโป้ และงานแก้ไขแบบทางรถไฟราง 1 เมตรจาก 3 รางเป็น 4 ราง

สัญญาที่ 2 งานโครงสร้างโยธาและสถานี มี บมจ.อิตาเลียนไทยฯ เป็นผู้รับจ้าง วงเงินเพิ่ม 3,352 ล้านบาท จากวงเงินเดิม 21,235 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างรางวิ่งสำหรับรถไฟฟ้าเพิ่ม 1 ราง จากเดิมออกแบบไว้ 3 ราง เป็น 4 ราง

และสัญญาที่ 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลรวมรถไฟฟ้า วงเงินเพิ่ม 473 ล้านบาท จากกรอบวงเงินเดิม 28,899 ล้านบาท โดยยังอยู่ระหว่างต่อรองกับบริษัทเอกชนที่ชนะประมูล คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) คาดว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องราคาสุดท้ายในวันที่ 10 กุมภาพันธ์นี้

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า หลังจากนี้จะให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จะต้องเร่งดำเนินการแก้ไขสัญญาระหว่างคู่สัญญา พร้อมกับเร่งรัดการก่อสร้างให้เป็นไปตามกรอบแผนงานโดยเร็ว ตามแผนงานโยธาจะเสร็จในปี 2560 แต่ล่าสุดหลังจากมีการปรับแบบก่อสร้างเพิ่มเติมอาจจะทำให้การก่อสร้างล่าช้าไปประมาณ 1 ปี เป็นปี 2561 โดยสัญญาที่ 1 งานก่อสร้างล่าช้าไป 8% และสัญญาที่ 2 ช้าไป 30% อย่างไรก็ตามทางรัฐบาลญี่ปุ่นก็ติดตามโครงการรถไฟสายสีแดงเช่นกันในเรื่องการจัดหาระบบรถไฟฟ้าที่จะมาวิ่งบริการ ซึ่งจะเร่งรัดให้เสร็จในเร็วๆ นี้เพื่อให้โครงการเดินหน้าต่อไปได้

***เห็นชอบ “พีระยุทธ” เป็นผู้ว่าฯ รฟม.

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอการแต่งตั้งนายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยให้ได้รับค่าตอบแทนคงที่ในอัตราเงินเดือน 340,000 บาท รวมทั้งค่าตอบแทนพิเศษประจำปี และสิทธิประโยชน์อื่นที่ผู้รับจ้างจะได้รับตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบแล้ว ทั้งนี้ให้มีผลตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญาจ้างเป็นต้นไป แต่ไม่ก่อนวันที่ ครม.มีมติ

***ร.ฟ.ท.-ปตท.ได้ข้อยุติเช่าที่ดิน สนง.ใหญ่

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท. กล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจากับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในการเช่าที่ดินรถไฟว่า ในการประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบการเจรจาต่อรองกับบริษัท ปตท. กรณีเช่าที่ดินของ ร.ฟ.ท.บริเวณสำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดี-รังสิต โดย ร.ฟ.ท.ตกลงต่ออายุสัญญาเช่าที่ดินให้ ปตท.อีก 30 ปี ขณะที่ ปตท.จะจ่ายเป็นเงินสด 800 ล้านบาท พร้อมดำเนินการสร้างที่อยู่อาศัยแนวตั้ง 17 ชั้น ย่านตึกแดง บางซื่อ ให้พนักงาน ร.ฟ.ท.พักอาศัยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย วงเงินประมาณ 400-500 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ทำการปรับปรุงอาคารที่พักอาศัยให้พนักงาน ร.ฟ.ท. บริเวณนิคมการรถไฟฯ กม.11 วงเงิน 150 ล้านบาท รวมแล้ว ปตท. จ่ายค่าเช่าที่ดินให้ ร.ฟ.ท.เป็นมูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท จากที่ ร.ฟ.ท.เคยเรียกค่าเช่าตลอดอายุสัญญา 30 ปีที่ 1,792 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น