xs
xsm
sm
md
lg

ยอดโกงวูบ! เหลือจ่ายใต้โต๊ะแค่ 5-15% ต่ำสุดรอบ 5 ปี หลัง คสช. เข้ม ภาคประชาชนเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หอการค้าไทย เผยสถานการณ์คอร์รัปชันไทยวูบ ลดเหลือจ่ายใต้โต๊ะแค่ 5-15% ต่ำสุดในรอบ 5 ปี หลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ และภาคประชาชนกัดไม่ปล่อย ทำให้ยอดโกงต่ำกว่าปี 53-56 ที่ต้องจ่ายสูงถึง 25-35% และมีเงินเหลือใช้พัฒนาประเทศ 1-2 แสนล้านบาท

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจสถานการณ์คอร์รัปชันไทยของเดือน ธ.ค.2557 ว่า ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจกับภาครัฐมีการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ หรือนักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญาเฉลี่ยที่ 5-15% ของงบประมาณ ถือว่าต่ำสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจ โดยคิดเป็นมูลค่าเสียหาย 50,254–150,763 ล้านบาท ลดลงจากช่วงปี 2553-56 ที่มีการเรียกรับเงิน 25-35% เนื่องจากภาคประชาชนติดตามอย่างใกล้ชิด และรัฐบาลภายใต้บริหารงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีความเข้มงวดในการปราบปราม จนนักธุรกิจ ข้าราชการ หรือนักการเมืองไม่กล้าที่จะจ่ายเงิน หรือรับเงินมากนัก

“การสำรวจในปี 2553-56 มีการเรียบรับเงินพิเศษจากผู้ประกอบการ 25-35% และการสำรวจในเดือน มิ.ย.2557 มีการเรียกเงิน 15-25% พอมาเดือน ธ.ค.2557 การเรียกรับเงินลดลงเหลือ 5-15% ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่สถานการณ์การคอร์รัปชันในไทยลดลงอย่างมาก เพราะหากเทียบการสำรวจล่าสุดกับช่วงปี 2553-56 พบว่า การเรียกรับเงินใต้โต๊ะลดลง 10-20% หรือคิดเป็นมูลค่าความเสียหายลดลง 100,000-200,000 ล้านบาทต่อปี” นายธนวรรธน์ กล่าว

ทั้งนี้ การที่งบประมาณรั่วไหลน้อยลง 100,000-200,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้รัฐบาลสามารถใช้เงินดังกล่าวในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 0.5-0.7% ซึ่งหากรวมรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 3-4%

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทยที่สำรวจจากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ 2,400 ตัวอย่างในกลุ่มประชาชน ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และข้าราชการ ภาครัฐ เมื่อเดือน ธ.ค.2557 พบว่า อยู่ที่ระดับ 49 เพิ่มขึ้นจาก 46 ในการสำรวจเมื่อเดือน มิ.ย.2557 ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันอยู่ที่ 47 เพิ่มขึ้นจาก 45 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์อยู่ที่ 50 เพิ่มขึ้นจาก 47 โดยหากดัชนีมีค่าเข้าใกล้ 100 แสดงว่าสถานการณ์คอร์รัปชันมีปัญหาลดลง หรือสถานการณ์ดีขึ้น

ทั้งนี้ เมื่อแบ่งการสำรวจเป็น 4 หมวด พบว่า ดัชนีทุกหมวดปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด โดยดัชนีปัญหาและความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชัน อยู่ที่ 42 เพิ่มขึ้นจาก 39 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน อยู่ที่ 51 เพิ่มขึ้นจาก 46 ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชันอยู่ที่ 54 เพิ่มขึ้นจาก 48 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกอยู่ที่ 49 ลดลงจาก 51

สำหรับสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย คือ ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายมากที่สุด รองลงมาเป็นขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการ และการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ การขาดจริยธรรมของบริษัท ความล่าช้า หรือยุ่งยากของขั้นตอนในการดำเนินการของทางราชการ กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลที่เอื้อต่อการทุจริต กระบวนทางการเมืองขาดความโปร่งใส และตรวจสอบได้ยาก เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับค่าตอบแทนต่ำ ผลประโยชน์ทางการเมือง และวัฒนธรรมเงินใต้โต๊ะ เป็นต้น

ส่วนรูปแบบการทุจริตที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่างๆ การจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ภายหลัง การทุจริตเชิงนโยบายโดยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การกรรโชก การเอื้อประโยชน์แก่ญาติและ พรรคพวก การวิ่งเต้นขอตำแหน่ง และการโยกย้าย และการไม่เปิดเผยข้อมูลหรือเปิดเผยไม่ครบถ้วน เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น