xs
xsm
sm
md
lg

สมาพันธ์เหล็กอาเซียนแนะรัฐรับมือเหล็กจีน ทาทาสตีลฯ จ่อยื่นพาณิชย์ทบทวนภาษีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพอินเทอร์เน็ต
สมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียนแนะรัฐบาลแต่ละประเทศเร่งใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กจากจีนก่อนอุตสาหกรรมของชาติล่มสลาย หลังพบว่าปี 57 เหล็กจีนทะลักมาไทยสูงถึง 12 ล้านตัน ด้านทาทาสตีลเตรียมยื่นรัฐทบทวนอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากจีนที่เรียกเก็บเพียง 5% ให้สูงขึ้น หลังพบว่าเหล็กลวดจากจีนยังทะลักเข้าไทยเหมือนเดิม

นายวิกรม วัชรคุปต์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้า ของสมาพันธ์เหล็กและเหล็กกล้าอาเซียน (AISC) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทุกประเทศในอาเซียนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตจากการถูกทุ่มตลาดสินค้าเหล็กอย่างรุนแรง แม้กระทั่งอินโดนีเซีย และมาเลเซียที่มีอุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร ตั้งแต่การผลิตต้นน้ำหรือโรงถลุงเหล็กภายในประเทศด้วย ก็ยังไม่สามารถสู้กับการทุ่มค้าสินค้าเหล็กอย่างไม่เป็นธรรมมายังประเทศของตนได้

โดยปี 2557 การส่งออกสินค้าเหล็กจากจีนประเทศเดียวมายังอาเซียน พบว่ามีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2556 อย่างมาก ได้แก่ เหล็กเส้นเพิ่มขึ้นถึง 97% เป็นปริมาณกว่า 5 ล้านตัน เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนเพิ่มขึ้น 52% เป็นกว่า 3 ล้านตัน เหล็กลวดเพิ่มขึ้น 17% เป็นปริมาณกว่า 4 ล้านตัน ท่อเหล็ก เพิ่มขึ้น 14% เป็นกว่า 1 ล้านตัน เป็นต้น

หลังจากการร้องเรียนของสมาพันธ์ AISC ตลอดจนอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศตั้งแต่ปลายปี 2557 รัฐบาลในอาเซียนได้เร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เช่น มาเลเซีย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าระหว่างประเทศ (MIDA) ได้ดำเนินการหลายมาตรการ ได้แก่ ไต่สวนและกำลังจะประกาศใช้มาตรการปกป้องการทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากจีน เกาหลีใต้ ภายในต้นปีนี้, การพิจารณาปรับอัตราอากรนำเข้าสินค้าเหล็กทรงยาวจาก 0% เป็น 5%, การแก้ไขกฎหมาย และกำหนดมาตรฐานย่อยเพื่อป้องกันการหลบเลี่ยงอากรนำเข้าหรืออากรทุ่มตลาด

ในขณะที่สิงคโปร์ ซึ่งสืบพบการสำแดงพิกัดศุลกากรการนำเข้าสินค้าเหล็กนับล้านตัน ผิดไปจากพิกัดของสินค้าดังกล่าวในการส่งออกจากประเทศแหล่งกำเนิด ซึ่งกรมศุลกากรของสิงคโปร์กำลังสอบสวนว่าเป็นความผิดฐานสำแดงพิกัดเท็จหรือไม่

การตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐแต่ละประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงเจตนาที่จะขจัดปัญหาการค้าที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นพื้นฐานของการส่งเสริมการค้าเสรีที่แท้จริง จึงเชื่อว่าภาครัฐของไทยคงจะมีการดำเนินการที่เหมาะสมทันการณ์ยิ่งขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะประเทศไทยมีการนำเข้าสินค้าเหล็กปริมาณมากสุดในอาเซียนถึงกว่า 12 ล้านตันต่อปี ในขณะอินโดนีเซีย และมาเลเซีย มีการนำเข้าปีละ 8 และ 6 ล้านตันตามลำดับ

ด้านนายศิโรโรตม์ เมธมโนศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ตามที่บริษัท เอ็น.ที. เอส สตีลกรุ๊ป และเหล็กสยาม ในเครือทาทาสตีล ได้ยื่นหนังสือถึงกระทรวงพาณิชย์ขอให้มีการประกาศตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดคาร์บอนต่ำและเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเจือธาตุอื่นจากประเทศจีน ล่าสุดทางพาณิชย์ได้เปิดให้มีการไต่สวนแล้ว หลังจากนี้อีก 60 วันหากปริมาณการนำเข้าเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนยังไม่ลดลง ก็จะทำหนังสือขอให้มีการใช้มาตรการชั่วคราวเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ที่ผ่านมาจีนได้ดัมป์ตลาดเหล็กลวดคาร์บอนต่ำเจือโบรอนเพื่อเลี่ยงเสียภาษีนำเข้าศุลกากร 5% รวมทั้งรัฐบาลจีนได้อุดหนุนภาษีการส่งออกเหล็กให้ผู้ประกอบการจีน ทำให้ราคาเหล็กลวดคาร์บอนต่ำจากจีนดัมป์ราคาถูกกว่าถึง 18.51% CIF ทำให้ผู้ประกอบการไทยบางรายหยุดผลิตหันไปนำเข้าแทน ส่วนบริษัทก็ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง

นายศิโรโรตม์กล่าวว่า ก่อนหน้านี้รัฐได้ประกาศการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กลวดคาร์บอนสูงผสมอัลลอยจากจีนในอัตราภาษี 5% ซึ่งมีระยะเวลา 5 ปี แต่เนื่องจากเป็นอัตราภาษีที่ต่ำมาก ทำให้เหล็กลวดคาร์บอนสูงฯ จากจีนยังนำเข้ามาอยู่โดยไม่ได้ลดปริมาณลงแต่อย่างใด ดังนั้นในเดือน พ.ค.นี้จะเสนอขอให้รัฐทบทวนการจัดเก็บภาษีเหล็กลวดคาร์บอนสูงจากจีนเพิ่มขึ้น เพื่อสกัดไม่ให้จีนส่งเหล็กเข้ามาดัมป์ตลาดไทยได้อีก

นางสาวชลธิชา จงรุ่งกีรติ เลขาธิการสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า มาตรการปกป้องการทุ่มตลาด (AD) เป็นมาตรการที่องค์การการค้าโลก (WTO) ให้ประเทศสมาชิกสามารถใช้เป็นเครื่องมือป้องกันตนเองได้ หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าสินค้าดังกล่าวมีการทุ่มราคาและก่อให้เกิดความเสียหายแก่อุตสาหกรรมภายใน ไม่เว้นแม้แต่ประเทศมหาอำนาจที่เน้นการค้าเสรี คือ สหรัฐอเมริกาได้ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดรวมกันแล้วกว่า 300 มาตรการ และสหภาพยุโรปก็ใช้กว่า 300 มาตรการเช่นเดียวกัน แต่ประเทศไทยเพิ่งดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเพียง 40 กว่ามาตรการและใช้ระยะเวลาไต่สวนนาน

นอกจากนี้ ภาครัฐกลับยังไม่สามารถเอาผิดได้แม้ว่าจะพบการเลี่ยงอากรทุ่มตลาดและอากรนำเข้าในลักษณะต่างๆ เช่น การเปลี่ยนพิกัดการนำเข้า ซึ่งสร้างความเสียหายให้ประเทศชาตินับหมื่นล้านบาท เนื่องจากปัญหาในการควบคุมและสอบสวน และกฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ. 2542 ไม่สามารถบังคับใช้ตอบโต้กรณีการอุดหนุนตลาดได้แต่อย่างใด จึงขอให้ภาครัฐโดยกระทรวงพาณิชย์ หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้พิจารณาปรับแก้ไขกฎหมายดังกล่าวโดยด่วน
กำลังโหลดความคิดเห็น