xs
xsm
sm
md
lg

วสท.ชงรัฐปลุกชีพตึกร้าง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อาคาร สาทร ยูนิค ทาวเวอร์
วสท.เตรียมเสนอมหาดไทย ออกกฎกระทรวง ต่ออายุตึกร้าง-อาคารสร้างค้างกว่า 250 อาคาร มูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาทใน กทม. ก่อนสิ้นปี57 หวังเคลียร์ตึกร้างแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แหล่งซ่องสุม อาชญากรรมเมืองในอนาคต หลังกฎกระทรวงฉบับปี 2552 หมดอายุ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา แนะดึงแบงก์รัฐช่วยปล่อยกู้เจ้าของตึกร้างขาดสภาพคล่อง นำค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษี จูงใจเจ้าของกลับมาก่อสร้างต่อ

รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ วสท. ได้ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) ได้เสนอมาตรการสกัดเหล็กจีนทุ่มตลาดไทยไปในช่วงก่อนหน้าแล้ว

ล่าสุด ภายในเดือน ธ.ค.2557 นี้ วสท. จะเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ให้ออกประกาศกระทรวง เพื่อเปิดทางให้โครงการอาคารร้าง หรืออาคารสูงที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และได้รับใบอนุญาตก่อสร้างในช่วงก่อนหน้า และในปี 2540 แต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้กลับมาสามารถก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จได้ ทั้งนี้ ภายหลังจากปี 2552 รัฐบาลมีการออกกฎกระทรวง ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อให้เจ้าของอาคารสูงที่สร้างค้างสามารถขออนุญาตแก้ไขดัดแปลงที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดว่า โครงการที่เข้าเกณฑ์ที่สามารถขออนุญาตดัดแปลงแก้ไขได้จะต้องมีความก้าวหน้าในการก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 25% และต้องมีวิศวกรเซ็นรับรองความมั่นคง และแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร และต้องได้รับใบอนุญาตภายใน 5 ปี หลังจากที่มีการออกกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวได้หมดอายุลงเมื่อ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา ทำให้เจ้าของอาคารสร้างค้างไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารต่อได้

“เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากไม่มีการต่ออายุ หรือกฎหมายรองรับ เจ้าของอาคารสร้างค้างก็จะไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างอาคารต่อได้ และหากไปยึดตามกฎหมายใหม่ก็จะมีปัญหาเพราะกฎหมายใหม่มีการกำหนดขนาดพื้นที่การก่อสร้างอาคาร ระยะถอยร่น และกำหนดความสูงในพื้นที่ต่างๆ ออกมาค่อนข้างเข้มงวด ทำให้โครงการที่จะก่อสร้างต้องมีขนาดเล็กลง ส่งผลให้เจ้าของอาคารไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามกฎหมายใหม่ หรือหากก่อสร้างต่อโครงการก่อสร้างมีขนาดเล็กลงทำให้ไม่เกิดความดึงดูดในการกลับมาก่อสร้างต่อ”

ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการที่จะแก้ปัญหาให้ตึกสร้างค้างก่อสร้างต่อจนแล้วเสร็จ เพื่อขจัดอาคารร้างในเมืองซึ่งจะกลายเป็นแหล่งซ่องสุมของมิจฉาชีพ และอาชญากรรม รวมถึงการปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคตให้หมดไป หน่วยงานราชการจำเป็นต้องมีส่วนเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว โดยการการเลื่อนระยะเวลาการอนุญาตก่อสร้างออกไป ส่วนในกรณีที่ของเจ้าของอาคารที่มีปัญหาการเงิน รัฐบาลควรจะมีมาตรการสนับสนุน เช่น หาสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของรัฐบาลเข้ามาปล่อยสินเชื่อโครงการ หรือให้เจ้าของโครงการสามารถนำค่าใช้จ่ายไปหักภาษีได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับอาคารที่ถูกทิ้งร้างจริงๆ เจ้าของอาคารที่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์สุดท้ายหากไม่มีการรื้อถอน หรือก่อสร้างต่อให้แล้วเสร็จ ในอนาคตรัฐบาลอาจจะต้องมีการออกกฎหมายบังคับให้เจ้าของอาคารต้องรับผิดชอบในกรณีที่เกิดปัญหา หรือเกิดเรื่องที่ผิดกฎหมายขึ้นภายในอาคาร หรือตึกที่ตนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อยู่

ทั้งนี้ อาคารร้าง หรือตึกสร้างค้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น จากตัวเลขที่มีการสำรวจจากสมาชิก วสท. และ กทม. มีอยู่ประมาณ 150-250 อาคาร คิดเป็นมูลค่าโครงการประมาณ 300,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่นับรวมกับอาคารสร้างค้างที่กระจายอยู่ในต่างจังหวัดด้วย

“โครงการสร้างค้างดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท หากมีการก่อสร้างให้แล้วเสร็จคาดว่าจะมีการใส่เม็ดเงินเข้าไปอีกไม่ต่ำกว่าเท่าตัว ซึ่งประมาณการว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดในระบบกว่า 6 แสนล้านบาท ซึ่งจะเป็นการการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในอีกช่องทางหนึ่ง”

 

กำลังโหลดความคิดเห็น