xs
xsm
sm
md
lg

อสังหาฯ รายเล็กวอน คสช.คุมราคาเหล็ก เชื่อรัฐบาลยุคก่อนออกมาตรการเอื้อผู้ผลิตรายใหญ่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิธิ ตากวิริยนันท์
อสังหาฯ รายเล็กทนไม่ไหวราคาเหล็กรูปพรรณพุ่งจาก 20 บาท/กิโลกรัม เมื่อ ม.ค.56 เป็น 23.3 ในเดือน มิ.ย.57 ขณะที่ราคาตลาดโลกแค่ 20 บาท/กิโลกรัม เตรียมรวมตัวยื่นหนังสือขอ คสช.ช่วยตรวจสอบ สงสัยรัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มาออกมาตรการเอื้อผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ผูกขาดตลาด พร้อมช่วยควบคุมราคาเหล็ก

นายนิธิ ตากวิริยนันท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สรรสิ่งดี จำกัด ผู้พัฒนาโครงการบ้านนารา เปิดเผยว่า จากปัญหาราคาเหล็กรูปพรรณในประเทศปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่ต้องใช้เหล็ก ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลทำให้พบว่า การออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐบาลชุดที่ผ่านๆ มา ตั้งแต่การประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (anti-dumping) ซึ่งมีผลต่อการจำกัดนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ จนมาถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์ (safeguard) ส่งผลให้เหลือผู้ผลิตเหล็กเพียง 2 รายที่ผูกขาดตลาด

จากนั้นผู้ผลิต 2 รายใหญ่ดังกล่าวได้ประกาศขึ้นราคาเหล็กภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับราคาเหล็กในตลาดโลกที่อยู่ในช่วงปรับราคาลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ โดยราคาเหล็กรีดร้อนในประเทศไทยได้เริ่มขยับสูงขึ้นนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2557 หลังจากออกมาตรการเซฟการ์ดตามคำขอของบริษัทผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ ซึ่งสร้างผลกระทบด้านการแบกราคาเหล็กที่สูงขึ้นของกลุ่มธุรกิจที่ต้องใช้เหล็กเป็นวัสดุหลักในการดำเนินกิจการ ตั้งแต่ธุรกิจก่อสร้าง ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องใช้ไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูล พบว่า ผลจากการประกาศมาตรการเซฟการ์ดราคาเหล็กได้เพิ่มขึ้นจาก 20 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนธันวาคม 2556 เป็น 21 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนมกราคม และขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยเฉพาะในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน 2557 ที่ราคาเหล็กในประเทศไทยไต่ระดับขึ้นมาถึง 23.3 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาเหล็กรีดร้อนในต่างประเทศยังมีราคาเสนอขายที่ประมาณ 20 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น

“มาตรการเซฟการ์ดนับเป็นจุดเริ่มต้นของการผูกขาดการตั้งราคาเหล็กในตลาด ผู้ผลิตรายใหญ่สามารถกำหนดราคาที่ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ทั้งยังมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในระยะเวลาไม่นาน โดยกลุ่มผู้ผลิตอ้างว่า การนำเหล็กเข้าจากต่างประเทศส่งผลให้บริษัทได้รับความเสียหาย ทั้งที่ในความเป็นจริงปัญหาทางการเงินนั้นเกิดจากแผนการลงทุนที่ผิดพลาด อันเป็นเรื่องภายในของกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเอง การออกมาตรการของภาครัฐในลักษณะที่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ขององค์กรการค้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเพียงกลุ่มเดียว จึงถือเป็นเรื่องไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการทั่วไป โดยเฉพาะธุรกิจที่มีขนาดกลาง และขนาดเล็กซึ่งต้องรับผลกระทบร่วมกันทั้งหมด” นายนิธิ กล่าว

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอัตราการบริโภคเหล็กที่ประมาณ 3 ล้านตันต่อปี เมื่อคำนวณจากผลต่างของราคาเหล็กในประเทศกับราคากลางในตลาดสากล เท่ากับว่า กลุ่มผู้ประกอบการในประเทศทั้งหมดจะต้องซื้อเหล็กในราคาที่สูงเกินความจริง เพื่อช่วยเหลือการขาดทุนของกลุ่มผู้ผลิตเหล็กในประเทศเป็นเงินถึง 9,900 ล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นการนำเงินของประชาชนทั้งประเทศไปอุดหนุนบริษัททั้ง 2 นี้
กลุ่มผู้ประกอบการร่วมตัวเพื่อเรียกร้อง คสช.เข้ามาควบคุมราคาเหล็ก
ส่วนผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาฯ คือ ต้องใช้เหล็กในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเหล็กใช้ในการก่อสร้างบ้านประมาณ 20-30% ยกตัวอย่างบ้าน 1 หลัง ค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท คิดเป็นค่าเหล็ก 2-3 แสนบาท ราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้นด้วยประมาณ 5-6 หมื่นบาท/หลัง โดยที่ผ่านมาผู้รับเหมาขอปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เพราะแบกรับภาระไม่ไหว ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาบ้านตามบางส่วนและแบกรับเองบางส่วน

“หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ อีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมาในอนาคต ก็คือโครงการก่อสร้างหลายโครงการอาจมีผู้รับเหมาใช้วิธีลดต้นทุนโดยการลดสเปคเหล็กอันมีผลต่อความปลอดภัยของผู้อาศัย ซึ่งที่ผ่านมา เราก็เห็นกันแล้วว่ามีตึกอาคารหรือโครงการบ้านจัดสรรบางแห่ง ที่ผู้รับเหมาลดต้นทุนก่อสร้างด้วยการลดสเปคเหล็กซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก คุณภาพมาตรฐานของอาคารจึงต่ำลง หลายกรณีเสี่ยงต่อการถล่ม หรือถึงใช้ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ที่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แล้วหากราคาเหล็กยังพุ่งสูงต่อไปไม่หยุด หลายโครงการก่อสร้างก็ต้องหยุดชะงัก เพราะขาดทุนดำเนินงาน หรือคำนวณแล้วว่า ถึงสร้างเสร็จก็ไม่คุ้มทุน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้รับเหมาทิ้งงาน ตึกรามอาคารต่างๆ ที่ยังสร้างไม่เสร็จก็จะถูกทิ้งร้างเกลื่อนทั่วบ้านเมือง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบต่อประเทศไทยทั้งในด้านภาพลักษณ์ไปจนถึงเศรษฐกิจโดยรวม” นายนิธิ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการรายกลางและเล็ก นำโดย นายปิติพัฒน์ ปรีดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปรีดาโฮลดิ้ง จำกัด ผู้พัฒนาโครงการ กรีเน่คอนโด แจ้งวัฒนะ, นายธนยศ อมกฤตวาริน รองประธานกรรมการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ Modern House Property และตน ต้องการแสดงจุดยืนต่อกรณีการขึ้นราคาสินค้าเหล็กที่ไม่สอดคล้องต่อกลไกตลาด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมรายชื่อผู้ประกอบการที่เดือดร้อน เพื่อยื่นจดหมายร้องเรียนถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวันที่ 8 สิงหาคมนี้

โดยขอความร่วมมือ คสช. ในการตรวจสอบการพิจารณาออกมาตรการต่างๆ ของภาครัฐให้สอดคล้องต่อความเป็นจริง และยุติธรรมต่อองค์กรธุรกิจทุกหน่วยในสังคม เพราะเมื่อสืบย้อนไปถึงการออกมาตรการแต่ละครั้งในรอบหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การประกาศมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาด (anti-dumping) ซึ่งมีผลต่อการจำกัดนำเข้าสินค้าจากบางประเทศ จนมาถึงมาตรการปกป้องการนำเข้าเหล็กจากต่างประเทศโดยสมบูรณ์ (safeguard) ราคาของเหล็กในประเทศที่อยู่ภายใต้การผลิตของบริษัทใหญ่เพียง 2 ราย กลับมีราคาเพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีการควบคุม

“ที่ผ่านมา การกำหนดราคาสินค้าที่ถูกผูกขาดโดยบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่แห่งเป็นเรื่องที่กลุ่มธุรกิจขนาดกลาง หรือขนาดเล็กจำเป็นต้องยอมรับ และปฏิบัติตามเงื่อนไขมาโดยตลอดซึ่งเรามองว่า หากราคาสินค้าในประเทศกับในตลาดโลกห่างกันอยู่ที่ราว 10% หรือมีภาวะที่ราคาตรึงอยู่กับที่ และลดลงตามกลไกตลาดอยู่บ้าง ก็พอยอมรับได้ว่าสมเหตุสมผล แต่ในกรณีนี้ที่ราคาเหล็กในประเทศกับในตลาดโลกมีช่องว่างที่ถ่างขยายขึ้นไปถึงเกือบ 30% ทั้งไม่มีทีท่าจะหยุดนิ่ง จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายจำเป็นต้องออกมารวมตัวกัน” นายนิธิ กล่าว

อนึ่ง ในสมัยที่นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ดเมื่อปี 56 ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่า ผู้ผลิตในประเทศ 4 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัทสหวิริยาอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) บริษัท สหวิริยาเพลทมิล จำกัด (มหาชน) บริษัท จี สตีล จำกัด (มหาชน) และบริษัท จี เจ สตีล จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย. 2555 ให้ใช้มาตรการชั่วคราว เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการนำเข้าเหล็กดังกล่าว เพราะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากปี 2553 เพิ่มขึ้น 72% จากปี 2552 ปี 2554 เพิ่มขึ้น 97% จากปี 2553 และในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2555 นำเข้าเพิ่มขึ้น 72% จากช่วงเดียวกันของปี 2554 ส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดสินค้านำเข้าเพิ่มขึ้น เกิดความเสียหายต่อผู้ผลิตทำให้มีระดับการขาย การผลิต การใช้กำลังการผลิต การจ้างงาน ตลอดจนกำไรลดลง

มาตรการเซฟการ์ดดังกล่าว จะส่งผลให้สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออื่นๆ ชนิดเป็นม้วน และไม่เป็นม้วน (อยู่ในกลุ่มพิกัด 7225) ต้องชำระภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตรา 33.11% จากอัตราภาษีนำเข้าปกติที่อยู่ระหว่าง 0-5% ยกเว้นให้แก่ผู้นำเข้าที่ได้รับสิทธิพิเศษสนับสนุนการกฎหมายการนิคมแห่งประเทศไทย กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกฎหมายศุลกากร


วอนคสช.คุมราคาเหล็กชี้มาตรการเอื้อรายใหญ่
ASTVผู้จัดการรายวัน- อสังหฯรายเล็กทนไม่ไหวราคาเหล็กรูปพรรณพุ่งจาก 20 บาท/ก.ก.เมื่อ ม.ค.56 เป็น 23.3 ในเดือน มิ.ย. 57 ขณะที่ราคาตลาดโลกแค่ 20 บาท/ก.ก. เชื่อสาเหตุจากมาตรการเซฟการ์ด ส่งผลเหลือผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ผูกขาดตลาด เตรียมรวมตัวยื่นหนังสือขอ คสช.ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงสถานการณ์ราคาเหล็กที่ขยับเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม จากการกำหนดราคาโดยไม่มีการควบคุมของ 2บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศ ด้านส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน ยื่น2ข้อเสนอช่วยเหลือธุรกิจ 1.แรงานก่อสร้าง 2. ขอให้ภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผู้ที่ปลูกสร้างเอง 3. เรื่องฐานข้อมูลของภาครัฐ ที่ปัญหาต่างๆไม่สามารถตอบสนองในแต่ละเซกเตอร์ และไม่ตรงกับความต้องการของเอกชน
กำลังโหลดความคิดเห็น