xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.วอน คสช.ตั้งวอร์รูมช่วยเกษตรกรอย่างเท่าเทียม ยัน “สุเทพ” เลิกเล่นการเมือง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มัลลิกา บุญมีตระกูล (แฟ้มภาพ)
ปชป.เรียกร้อง คสช. ตั้งวอร์รูมช่วยเหลือเกษตรกรกลุ่มต่างๆ อย่างเท่าเทียมทุกภูมิภาค เหตุผลผลิตราคาตกต่ำเกือบทุกชนิด ยัน ปชป. ยังมีสถานะเป็นพรรคการเมือง แต่หยุดดำเนินกิจกรรมตามคำสั่ง คสช. ปัด อดีต ส.ส.หลายคนเตรียมซบ “สุเทพ” ยันกำนัน พูดจัดเลิกเล่นการเมืองหลังล้มระบอบทักษิณสำเร็จ

น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงว่า ขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งวางมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรทุกกลุ่มโดยตั้งวอร์รูมแก้ปัญหาอย่างเท่าเทียม เพราะขณะนี้เกษตรกร 16-17 จังหวัดภาคใต้ และภูมิภาคอื่นๆ เกิดปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ จึงอยากเสนอให้ คสช. เร่งหามาตรการเร่งด่วนวางแผนหาตลาดกลาง เช่น กทม. และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ เพื่อรองรับผลผลิตช่วยยกระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรด้วย

นอกจากนี้ อยากให้เร่งแก้ปัญหาราคายางพาราและปาล์มตกต่ำและอยากให้ คสช. เร่งจ่ายเงินค่าปัจจัยผลผลิตที่ค้างจ่ายเกษตรกรอยู่ 1.5 แสนราย วงเงินประมาณ 4 พันล้านบาท จากกรณีที่รัฐบาลที่ผ่านมาออกมติจ่ายเงินให้เกษตรกร เป็นการชดเชยค่าปัจจัยการผลิต

โดยในส่วนของราคาปาล์ม กลุ่มเกษตรกรไม่เห็นด้วยกับการนำเข้าน้ำมันปาล์ม เพราะจะกระทบต่อราคาปาล์มในประเทศแต่ควรให้รัฐรับซื้อปาล์ม สต๊อกเอาไว้ เพื่อนำไปผลิตไบโอดีเซล ซึ่งจะช่วยกระตุ้นราคาปาล์มให้สูงขึ้นได้

สำหรับปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. เชิญตัวแทนเกษตรกร ผู้ส่งออก และภาครัฐมาร่วมหารืออย่างเร่งด่วน โดยกลุ่มเกษตรกรเสนอว่า จะต้องไม่นำยางที่มาจากการแทรกแซงออกมาขายในช่วงนี้อย่างเด็ดขาด เพราะจะกลายเป็นการทุ่มตลาดกระทบต่อการกำหนดราคายาง และอยากให้ คสช. กำหนดมาตรการการแก้ปัญหา และแถลงออกมาให้ชัดเจน เพื่อส่งสัญญาณให้โลกรู้ รวมถึงควรประสานงานกับประเทศผู้ผลิตอื่นอย่างใกล้ชิดและเร่งด่วนควรเจรจากับประเทศผู้ส่งออกในโลกและบริษัทร่วมทุนที่มีไทย มาเลเซียอินโดนีเซีย ว่าไม่ควรขายยางตัดราคากันเอง และต้องกำหนดราคายางพาราขั้นต่ำให้ได้ เพื่อแสดงความเป็นเจ้าตลาดรวมถึง คสช. ควรมียุทธศาสตร์ด้านยางพาราระยะยาวด้วย

น.ส.มัลลิกา ยังกล่าวถึงสถานะความเป็นพรรคการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ว่า ฝ่ายกฎหมายของพรรคได้มีการหารือกันว่าขณะนี้ ยังมีขณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ จึงถือว่า ยังคงมีพรรคการเมืองอยู่ แต่จะหยุดเคลื่อนไหวทางการเมืองตามคำร้องขอของ คสช. แต่การทำหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน และกลุ่มเกษตรกรต่างๆ ที่ร้องผ่านสาขาพรรค 170 กว่าสาขา ถือเป็นเรื่องที่พรรคต้องติดตามและทำกิจกรรมเกี่ยวกับความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้ยืนยันว่าไม่ขัดกับกติกาที่ คสช. ขอร้องเอาไว้

ส่วนที่มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ มีปัญหาความแตกแยก โดยมีอดีต ส.ส. ส่วนหนึ่ง ต้องการย้ายไปอยู่กับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. นั้น น.ส.มัลลิกา ปฏิเสธว่า ไม่มีปัญหาดังกล่าว ที่ผ่านมา นายสุเทพ ได้ประกาศไปแล้วว่า เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ก็จะกลับไปอยู่บ้านเป็นกำนันให้คำปรึกษาความเดือดร้อนแก่ประชาน ซึ่งที่ผ่านมา นายสุเทพ ก็ประกาศชัดเจนมาตลอดว่า การดำเนินการทุกอย่างเป็นเรื่องส่วนตัวไม่เกี่ยวกับพรรค ขณะที่คณะกรรมการบริหารพรรคทุกรายก็ยังมีความสามัคคีกันอยู่ มีการประสานงานในการทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยดี

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการของพรรคคงต้องรอดูกติกาใหม่ที่จะมีออกมาหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ประกาศจะให้มีรัฐบาลใน 3 เดือน และจะเริ่มมีโรดแม็ปการปฏิรูปซึ่งคงจะมีกติกาใหม่ๆ ขึ้นมา


กำลังโหลดความคิดเห็น