xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” คิกออฟรถไฟไทย-จีน ดีเดย์ตอกเข็มช่วงกรุงเทพฯ-แก่งคอย 1 ก.ย. 58

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประจิน” ติดเครื่องรถไฟทางคู่ไทย-จีนรางมาตรฐาน หนองคาย-แก่งคอย-มาบตาพุด-กรุงเทพฯ มูลค่า 4 แสนล้าน วางกรอบหารือคณะทำงาน 3 ครั้ง ตั้งเป้า 1 มี.ค.ลงพื้นที่สำรวจออกแบบก่อสร้าง 2 ระยะ เริ่ม 1 ก.ย. 58 สร้างเสร็จใน 2 ปีครึ่ง ขึ้นทะเบียนรับเหมาไทยคัดชื่อร่วมงานก่อสร้าง เล็งให้ ร.ฟ.ท.เป็นหลักงานเดินรถ

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารโครงการภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย (คบร.) วันนี้ (15 ม.ค.) ว่า ได้ประชุมเพื่อเตรียมการฝ่ายไทยสำหรับการประชุมร่วมไทย-จีนเพื่อความร่วมมือด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทย ครั้งที่ 1 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 21-22 มกราคม 2558 นี้ โดยแต่ละฝ่ายจะนำเสนอหัวข้อในการร่วมมือในภาพรวม และจะสรุปเนื้อหาทั้งหมดในการประชุมครั้งที่ 2 วันที่ 5-7 กุมภาพันธ์ 2558 และครั้งที่ 3 วันที่ 25-27 กุมภาพันธ์ 2558

ทั้งนี้ แผนงานการก่อสร้างรถไฟทางมาตรฐาน (Standard gauge) 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 734 กม. และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ 133 กม. วงเงินลงทุนประมาณ 4 แสนล้านบาทนั้นจะมี 4 ช่วง โดยแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ระยะ ก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. เริ่มก่อสร้าง 1 กันยายน 2558 คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้ในเดือนธันวาคม 2560 ระยะที่สอง จะเป็นการก่อสร้างช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เริ่มก่อสร้าง 1 ธันวาคม 2558 คาดว่าจะเปิดให้บริการเดินรถได้ในเดือนมีนาคม 2561

โดยหลังจากคณะกรรมการบริหารโครงการฯ สรุปรายละเอียดแล้ว จะสามารถเริ่มทำงาน จัดทีมลงพื้นที่สำรวจออกแบบได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2558 และในการสำรวจออกแบบจะใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือที่ทันสมัยเข้ามาช่วย ซึ่งนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายแล้วยังทำให้การทำงานรวดเร็วมากขึ้น ใช้เวลาลดลงจากการทำงานแบบเดิม 1 ใน 3 โดยเส้นทางเกือบ 1,000 กม. จะใช้เวลาออกแบบ 6-7 เดือนจากวิธีเดิมจะใช้เวลา 1.5 ปี ส่วนการก่อสร้างจะแบ่งเป็นช่วงจะแล้วเสร็จใน 2.5 ปี จากเดิมไม่น้อยกว่า 4 ปี

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เรื่องการก่อสร้างในส่วนของไทยได้รวบรวมบริษัทก่อสร้างทั้งรายใหญ่ บริษัทรับเหมาช่วง และบริษัทผู้แทนบริษัทต่างชาติ ที่มีผลงานและความน่าเชื่อถือไว้ มีประสบการณ์การทำงานในต่างประเทศไม่น้อยกว่า 15 บริษัทแล้วตั้งแต่ ช่วงกันยายน-ตุลาคม 2557 และยังเปิดโอกาสให้เสนอตัวเข้ามาอีก ส่วนฝ่ายจีนมีรัฐวิสาหกิจด้านรถไฟ 5 แห่ง และมีบริษัทย่อยที่มีความสามารถด้านก่อสร้าง งานระบบรถ อาณัติสัญญาณอีกจำนวนมาก ซึ่งจะจัดลำดับรายชื่อไว้และนำมาคัดเลือกร่วมกับฝ่ายจีนต่อไป ไม่ประกวดราคาเพราะเป็นความร่วมมือรัฐต่อรัฐ ( จีทูจี) ส่วนงานเดินรถนั้น ไทยมีหน่วยงานหลักจะเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยจะศึกษารูปแบบที่เหมาะสมว่าจะต้องร่วมกับเอกชนอย่างไร

“การทำงานแบบคู่ขนานและใช้เครื่องมือ เทคโนโลยีมาช่วย จะรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ พร้อมกันนี้ เพื่อให้การดำเนินงานและความร่วมมือของ 2 ฝ่ายบรรลุตามเป้าหมาย จะมีคณะกรรมการจากหลายฝ่ายเข้ามาช่วยให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยนำปัญหาอุปสรรคในอดีตมาเป็นข้อมูลเพื่อเตรียมแผนแก้ไขไว้ล่วงหน้าอีกด้วย” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองประธานคณะกรรมการบริหารโครงการฯ กล่าวว่า แนวทางการลงทุนนั้น ทางจีนมีความพร้อม และเปิดกว้างทุกรูปแบบ ทั้งให้เงินกู้ 100% หรือลงทุนให้ก่อน 100% และไทยใช้คืนภายหลัง หรือจะเป็นการร่วมลงทุน ซึ่งคณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบลงทุนของไทยจะพิจารณาเลือกรูปแบบที่ดีที่สุด

โดยหากเป็นการร่วมทุนจะต้องพิจารณาว่าฝ่ายไทยจะลงทุนกี่รายการ และต้องใช้แหล่งเงินจากที่ใด ซึ่งมีทั้งงบประมาณ เงินกู้ หรือระดมทุนด้วยการออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนระบบและตัวรถไฟฟ้านั้นจะใช้เทคโนโลยีของจีนแน่นอน แต่จะต้องออกแบบให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทย ที่ภาคอีสานเป็นที่ราบและมีบางช่วงที่ต้องผ่านภูเขา เป็นต้น พร้อมกันนี้จะมีการพัฒนาบุคลากรให้พร้อมกับเทคโนโลยีการก่อสร้างและเทคโนโลยีเดินรถ

สำหรับฝ่ายไทยนั้น มีการจัดตั้งคณะกรรมการและอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการภายใต้ MOU รถไฟไทย-จีน ประกอบด้วย คณะกรรมการ 2 ชุด คือ คณะกรรมการกำกับการดำเนินโครงการ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คณะกรรมการบริหารโครงการ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการที่ปรึกษา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการบูรณาการแผนงานและการดำเนินงาน ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน คณะอนุกรรมการด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน ที่มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน
กำลังโหลดความคิดเห็น