น้ำมันร่วงพ่นพิษ! ปตท.สผ.ส่อเลื่อนเป้าผลิตปิโตรเลียม 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 2563 ออกไป หลังจากราคาน้ำมันดิบร่วงต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้การพัฒนาโครงการบางแหล่งไม่คุ้มค่า เผยปีหน้าตั้งเป้าหมายขายปิโตรเลียม 3.43 แสนบาร์เรล/วัน โตขึ้น 6% จากปีก่อน คาดปีหน้าน้ำมันดูไบ 70 เหรียญทำให้ราคาขายของบริษัทอยู่ที่ 53 เหรียญ/บาร์เรล พร้อมรอจังหวะซื้อแหล่งปิโตรเลียมภูมิภาคนี้เพิ่มเติม
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า ในปีหน้าบริษัทจะหารือกับบริษัทแม่ คือ ปตท. เพื่อทบทวนเป้าหมายระยะยาวหลังจากปัจจุบันราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และไม่รู้ว่าราคาน้ำมันดิบจะทรงตัวในระดับต่ำนี้ไปนานแค่ไหน ทำให้เป้าหมายการผลิตปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ที่ได้วางไว้ 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 2563 อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไป
โดยมีแนวโน้มที่จะเลื่อนเป้าหมายการผลิต 6 แสนบาร์เรล/วันออกไปนานกว่าปี 2563 ซึ่งจะมีความชัดเจนภายในกลางปีหน้า ก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.เคยได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตปิโตรเลียมจาก 9 แสนบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 6 แสนบาร์เรล/วันในปี 2563 ซึ่งปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งต่างๆ ของ ปตท.สผ.รวมแล้วจะผลิตปิโตรเลียมได้เพียง 4.5 แสนบาร์เรล/วัน ในปี 2563 จำเป็นที่บริษัทฯ ต้องแสวงหาโอกาสการซื้อกิจการเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตให้สูงขึ้น รวมทั้งหาโอกาสเข้าไปลงทุนแหล่งปิโตรเลียมที่กักเก็บอยู่ในชั้นหินดินดาน (Shale Gas/Shale Oil )
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ในปีหน้าบริษัทฯ ตั้งเป้าปริมาณขายปิโตรเลียมที่ 3.43 แสนบาร์เรล/วัน โตขึ้นจากปีนี้ที่ 3.2 แสนบาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้น 6% เนื่องจากปีหน้าบริษัทฯ รับรู้ปริมาณการผลิตเต็มปีของโครงการซอติก้า และโครงการผลิตของเฮสส์ ในไทย รวมทั้งการผลิตน้ำมันดิบจากโครงการแอลจีเรีย 433เอ& 416 บีที่คาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 2/2558
ทั้งนี้ ปตท.สผ.ประเมินแนวโน้มราคาน้ำมันดิบดูไบในปี 2558 อยู่ที่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จะทำให้ราคาขายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.อยู่ที่ 53 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ลดลงจากงวด 9 เดือนแรกของปี 2557 ที่มีราคาขายเฉลี่ย 66 เหรียญ/บาร์เรล ภายใต้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยที่ 104 เหรียญ/บาร์เรล แต่หากราคาน้ำมันดิบดูไบในปีหน้าปรับลงมา 55 เหรียญ/บาร์เรล ก็คาดว่าราคาขายเฉลี่ยมีโอกาสปรับลงมาที่ 48 เหรียญ/บาร์เรล
ขณะที่ต้นทุนแท้จริงของบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เหรียญสหรัฐ หากราคาน้ำมันดิบลงมาต่ำกว่า 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ปตท.สผ.ก็ยังสามารถผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเดิมได้แม้ว่าจะไม่มีกำไร เนื่องจากต้นทุนผลิตปิโตรเลียมที่ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ได้รวมเงินลงทุนเบื้องต้นที่จ่ายล่วงหน้าไปแล้วคิดเป็น 21 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ที่จะเปลี่ยนเป็นกระแสเงินสดหลังจากขายปิโตรเลียมออกไป
“ปีหน้าบริษัทฯ คาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และมีโอกาสที่ต่ำสุดอยู่ที่ 55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และสูงสุดอยู่ที่ 85 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ต้นทุนการผลิตของบริษัทเฉลี่ยอยู่ที่ 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ดังนั้น หากราคาน้ำมันดิบต่ำกว่า 42 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล บริษัทฯ ก็จะไม่หยุดผลิต แต่จะไม่มีการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบไม่ลดลงต่ำกว่า 42 เหรียญสหรัฐ เพราะมีหลายโครงการที่ต้นทุนการผลิตสูงกว่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถผลิตอยู่ได้”
นายเทวินทร์กล่าวว่า ตามที่บอร์ดบริษัทฯ อนุมัติงบลงทุน 5 ปี (2558-2562) ใช้เงินลงทุน 2.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นรายจ่ายลงทุน (CAPEX) 1.59 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และรายจ่ายดำเนินงาน (OPEX) 8.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยปีหน้ากำหนดงบลงทุนไว้ที่ 4.83 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยไม่รวมงบลงทุนสำหรับการซื้อกิจการ (M&A) โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่ 80% ลงทุนในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดเรียงลำดับความสำคัญของการใช้เงินลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันที่ผันผวน โดยยืนยันรักษาระดับการผลิตเดิมไว้ไม่ให้กระทบต่อความต้องการใช้ในประเทศ ขณะที่โครงการอยู่ในขั้นสำรวจ จะชะลอการดำเนินงานในโครงการที่มีความเสี่ยงสูงและไม่มีภาระผูกพันออกไปก่อนเพื่อรอจังหวะราคาที่เหมาะสม ได้แก่ โครงการออยล์แซนด์ที่แคนาดา โครงการแคช/เมเปิลที่ออสเตรเลีย เป็นต้น
“ในปีหน้าบริษัทฯ จะลงทุนสำรวจมากพอสมควรทั้งแหล่ง M3 ที่พม่าเพื่อพิสูจน์ยืนยันปริมาณสำรองก่อนเตรียมการพัฒนาในปีหน้า เช่นเดียวกับแหล่งโมซัมบิกที่ล่าสุดมีลูกค้าแน่นอน 6 ล้านตัน/ปี คงต้องรอรัฐสภาใหม่ของโมซัมบิกอนุมัติแผนพัฒนาโครงการจึงจะเดินหน้า คาดว่าจะเริ่มพัฒนาได้ปลายปีหน้า ส่วนแคช/เมเปิล ที่ออสเตรเลียก็อยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบการพัฒนา 2-3 แนวทาง คาดว่าปลายปีหน้าจะมีความชัดเจน ทั้งนี้ โครงการที่อยู่ในช่วงขั้นตอนสำรวจ หากพบว่าราคาน้ำมันดิบต่ำ ไม่คุ้มก็จะชะลอไปก่อน ทำให้งบการลงทุน 5 ปีนี้ปรับลดลงได้อีก”
นายเทวินทร์กล่าวว่า บริษัทโชคดีที่ไม่ได้มีการทำสัญญาในการผลิตที่แน่นอนเหมือนบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอื่นๆ ที่ต้องหาเงินลงทุนมาพัฒนาโครงการ ทำให้ต้องมีการขายแหล่งปิโตรเลียมในเอเชียออกมา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีของ ปตท.สผ.ในการพิจารณาเลือกซื้อแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพที่ดีในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยล่าสุดได้มีการเจรจาซื้อกิจการบ้างแล้วแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ซึ่งฐานะการเงินของบริษัทฯ มีความเข้มแข็ง โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในปีนี้อีก 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมีเพียงพอที่จะลงทุน หากบริษัทฯ ตัดสินใจซื้อกิจการใหม่ก็พร้อมที่จะออกหุ้นกู้ใหม่ได้อีก
ส่วนการขายโครงการมอนทารา ที่ออสเตรลียนั้น ยังไม่ใช่จังหวะที่เหมาะสม เนื่องจากราคาน้ำมันดิบตกต่ำ คงต้องรอไปก่อน ส่วนแหล่ง M3 ก็ยังมองหาโอกาสที่จะหาพันธมิตรร่วมทุนหลังจากมีความชัดเจนปริมาณสำรองปิโตรเลียมแล้ว รวมทั้งยังมองโอกาสที่จะเข้าไปร่วมทุนในโครงการ Shale Gas/Shale Oil ในสหรัฐฯ ด้วย