xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” หวั่นตั้ง BU รถไฟฟ้าซ้ำซ้อนแอร์พอร์ตลิงก์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ประจิน” เตรียมหารือ ร.ฟ.ท.ตั้งหน่วยธุรกิจรถไฟฟ้า คุมบริหารเดินรถสายสีแดงและแอร์พอร์ตลิงก์ หวั่นปัญหาซ้ำซ้อน ด้าน ร.ฟ.ท.ชงแผนตั้ง BU รถไฟฟ้าในปี 58 รองรับเปิดเดินรถสีแดง ปี 62 กางแผนเพิ่มรายได้จากบริการรถไฟฟ้า และขนส่งสินค้า เล็งร่วมทุนเอกชนผุด CY นำร่อง 2 แห่งในปี 60 สร้าง Product ใหม่ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบลอจิสติกส์ทางราง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เสนอจัดตั้งหน่วยธุรกิจระบบรถไฟฟ้า (BU รถไฟฟ้า) เพื่อทำหน้าที่บริหารการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงทั้งระบบ ซึ่งจะเรียกประชุมผู้เกี่ยวข้องในเร็ๆ นี้ โดยได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.จัดทำรายละเอียดโครงสร้างบุคลากรเพิ่มเติมด้วย เนื่องจากการบริหารงานเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงนั้นมีหลายแนวทาง เช่น ให้เอกชนเข้ามาร่วมเดินรถ และต้องไม่ให้ซ้ำซ้อนกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ด้วย

โดยตามแผน ร.ฟ.ท.จะตั้ง BU รถไฟฟ้าในปี 2558 และให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงในปี 2562 ซึ่งใน BU รถไฟฟ้าจะมีฝ่ายเดินรถสายสีแดง ฝ่ายซ่อมบำรุง สำนักพัฒนาบุคลากร และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ โดยจะมีการว่าจ้างพนักงานประจำหน่วยธุรกิจรถไฟฟ้าในช่วงระหว่างก่อสร้าง 85 คน และอีก 829 คนเมื่อเริ่มให้บริการ รวม 914 คน พร้อมกันนี้จะโอนขบวนรถในการดำเนินการให้แอร์พอร์ตลิงก์เพื่อสร้างความคล่องตัวในการบริหารรายได้-รายจ่ายของแอร์พอร์ตลิงก์

ทั้งนี้ แผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท. จะมียุทธศาสตร์หลักในเรื่องการเพิ่มรายได้จากการขนส่งสินค้า, การเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร และการสร้าง Product ใหม่ โดยคาดว่าเมื่อรถไฟฟ้าสายสีแดงเปิดให้บริการจะปรับภาพลักษณ์การให้บริการของรถไฟ ลดต้นทุนด้านพลังงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินรถทั่วประเทศ และยกระดับรถไฟชานเมือง รวมถึงการต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆ ผ่านสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นสถานีสำคัญในอนาคต สามารถสร้างรายได้เพิ่มภายใต้บริการที่ยั่งยืนเป็นระบบ

ส่วนการสร้าง Product ใหม่ จะมีการร่วมทุนกับเอกชนในกลุ่มธุรกิจลอจิสติกส์เพื่อจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าและย่านเก็บตู้สินค้า (Container Yard : CY) ภายในปี 2560 จำนวน 2 แห่ง เริ่มดำเนินการในปี 2562 เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบลอจิสติกส์ทางราง ซึ่งจะมีทั้งคลังสินค้า ยกขน กระจายสินค้า ซึ่งจะแก้ปัญหาบริการรถไฟไม่สามารถขนส่งแบบ Door to Door ได้

และอีก 2 แนวทางในการเพิ่มรายได้คือ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน โดยปรับปรุงการบริหารจัดการ พัฒนาบุคลากรรองรับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และลดอุบัติเหตุเพิ่มความปลอดภัย, จัดการหนี้สินประมาณ 84,969 ล้านบาท (ขาดทุนสะสม 56,950 ล้านบาท, ลงทุนรถจักร 9,029 ล้านบาท และลงทุนในแอร์พอร์ตลิงก์ 18,960 ล้านบาท) โดยเจรจากับกระทรวงการคลังในการพัฒนาพื้นที่ย่านมักกะสัน จำนวน 497 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี วงเงินประมาณ 65,056 ล้านบาท ในขณะที่ ร.ฟ.ท.จะต้องมีการเพิ่มรายได้จากการพัฒนาที่ดินแปลงหลักย่าน กม.11, สถานีแม่น้ำและบางซื่อ เพื่อนำรายได้มาอุดหนุนภาระบำนาญจากปัจจุบันจนถึงปี 2610 อีกประมาณ 65,860 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น