นักวิชาการจี้รัฐฉวยจังหวะน้ำมันดิบลด เร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยสถาบันปิโตรเลียมฯ เสนอให้ราคาขายส่ง LPG ทุกภาคส่วนมีราคาเท่ากัน รวมทั้งลดการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในกลุ่มน้ำมันเบนซินให้น้อยที่สุด และจัดเก็บภาษีสรรพสามิตดีเซลเพิ่มเป็น 3-4 บาท/ลิตร ด้าน “มนูญ ศิริวรรณ” เสนอรัฐยกเลิกการตรึงราคาแอลพีจี และดีเซลไม่เกิน 30 บาท
วันนี้ (12 ธ.ค.) นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศ ร่วมกับนายมนูญ ศิริวรรณ นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้แถลง “ข้อเสนอการปรับโครงสร้างราคา LPG และน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศไทยด่วน โดยอาศัยจังหวะราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องต่ำสุดในรอบ 5 ปี อยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเร่งปรับโครงสร้างราคาพลังงานเพื่อให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ส่งเสริมการใช้ LPG และน้ำมันอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความโปร่งใสในการกำหนดราคาสำหรับแต่ละกลุ่มผู้ใช้ให้ชัดเจนตรวจสอบได้
นายศิริกล่าวว่า สถาบันปิโตรเลียมเสนอให้ราคา LPG ทุกภาคส่วนทั้งครัวเรือน ขนส่ง อุตสาหกรรมและปิโตรเคมี ซื้อ LPG ในราคาต้นทุนเท่ากันที่คำนวณจากราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก ด้วยปริมาณการจัดหาจากการนำเข้า โรงแยกก๊าซและโรงกลั่น โดยมีเคลียริงเฮาส์เป็นผู้บริหารจัดการ
รวมทั้งกำหนดให้ราคา LPG จากโรงแยกก๊าซฯ เท่ากับต้นทุนการผลิต LPG ของแยกก๊าซฯ รวมทั้งยกเลิกการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจาก LPG พร้อมทั้งปรับลดภาษีสรรพสามิต 1-2 บาท/กก.สำหรับ LPG ที่ขายเป็นเชื้อเพลิงในช่วงแรกด้วย
ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ข้อเสนออัตราการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดต่างๆ บนหลักการที่ว่า “เก็บเพียงพอในการอุดหนุนแก๊สโซฮอล์ 95 E20 E85” เพื่อส่งเสริมการใช้เอทานอลจากผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลอีก 3-4 บาท/ลิตร โดยเกลี่ยมาจากเงินกองทุนน้ำมันฯ
จากโครงสร้างราคาพลังงานในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน LPG ปรับลดลงทุกประเภท โดยราคา LPG ครัวเรือนลดลงจาก 24.16 บาท/กก.เหลือ 22.98 บาท/กก. (กรณีไม่เก็บภาษีสรรพสามิต) และราคาเบนซินทั้งกลุ่มจะปรับลดลงต่ำกว่า 30 บาท/ลิตร
“เสนอให้ยกเลิกการจัดเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล หรือจัดเก็บให้น้อยที่สุดเพื่อสามารถอุดหนุนราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E 20 และ E85 ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันกลุ่มเบนซินต่ำกว่า 30 บาทต่อลิตร หรือเบนซิน 95 มีโอกาสลดลง 10 บาทต่อลิตร และเสนอให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จากเดิมจัดเก็บที่ 0.75 บาทต่อลิตร เป็น 4.75 บาทต่อลิตร”
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ กล่าวแสดงความเห็นที่แตกต่างจากนายศิริว่า ส่วนตนเองขอเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับสัดส่วนภาษีสรรพสามิตและการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันให้เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างมากทำให้ไม่ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนฯในอัตราที่สูง รวมทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพามิตรที่สูงในกลุ่มเบนซินก็ควรปรับลดลงด้วย พร้อมทั้งให้รัฐยกเลิกการตรึงราคาแอลพีจีและเพดานดีเซลไม่เกิน 30 บาท/ลิตร
ทั้งนี้ เสนอปรับอัตราการจัดเก็บภาษีเบนซิน 95 จาก 5.60 บาท/ลิตร เป็น 5 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 95 จาก 5.04 บาท/ลิตร เป็น 4 บาท/ลิตร, แก๊สโซฮอล์ 91 จาก 5.04 บาท/ลิตร เป็น 4 บาท/ลิตร, E20 จาก 4.48 บาท/ลิตร เป็น 4 บาท/ลิตร, E85 จาก 0.84 บาท/ลิตร เป็น 1 บาท/ลิตร และปรับขึ้นภาษีดีเซล จาก 0.75 บาท/ลิตร เป็น 3 บาท/ลิตร ส่วน LPG จาก 2.17 บาท/กก. เป็น 1 บาท/กก. และ NGV จากปัจจุบันไม่ต้องเสียภาษี เพิ่มเป็น 1 บาท/กก.
ในส่วนของการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เบนซิน 95 จากปัจจุบันอยู่ที่เก็บในอัตรา 10.15 บาท/ลิตร ลดลงเหลือ 8.80 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล์ 95 จาก 4.65 บาท/ลิตร เป็น 3.45 บาท/ลิตร แก๊สโซฮอล 91 จาก 2.95 บาท/ลิตร เป็น 1.75 บาท/ลิตร E20 จาก 1.20 บาท/ลิตร เป็น 0 บาท/ลิตร E85 จากปัจจุบันชดเชย 8.23 บาท/ลิตร ลดลงเหลือ 8 บาท/ลิตร ดีเซล จากเก็บที่ 4.80 บาท/ลิตร ลดลงเหลือ 2.55 บาท/ลิตร ส่วน LPG และ NGV ควรจะสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
จากข้อเสนอแนะดังกล่าวจะยังคงกองทุนน้ำมันฯ ไว้ แต่จะเก็บในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากเห็นว่ากองทุนมีเงินแล้วระดับหนึ่ง หากทำตามข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินสำรองอยู่ 2-3 หมื่นล้านบาทในปีหน้า