xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.ปรับแนวเส้นทางสายสีส้มลดเวนคืน เร่งสรุปชงบอร์ด ตั้งเป้าเปิดเดินรถปี 63

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ(บริหาร) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการแทน ผู้ว่าการ รฟม.เป็นประธานเปิดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี (เพิ่มเติม) ช่วงสถานีรางน้ำ - สถานี รฟม.
รฟม.เปิดรับฟังความเห็นผลศึกษาปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ช่วงสถานีรางน้ำ-สถานี รฟม.ลดผลกระทบเวนคืนประชาชนช่วงตัดผ่านพื้นที่ประชาสงเคราะห์ ดินแดง จ่อยกเลิกสถานีราชปรารภ และปรับเปลี่ยนตำแหน่งสถานีรางน้ำให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ที่สถานีมักกะสันแทน เพื่อลดผลกระทบเวนคืน คาดสรุปรายละเอียดเสนอบอร์ด รฟม.กลางปีหน้า ตั้งเป้าเปิดเดินรถปี 63

วันนีี้ (22 พ.ย.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกรณีการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน-มีนบุรี (เพิ่มเติม) สถานีรางน้ำ-สถานี รฟม. ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน- มีนบุรี ซึ่งกลุ่มบริษัทที่ปรึกษาให้ดำเนินงานศึกษา/ทบทวนรายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ จัดเตรียมเอกสารประกวดราคา และดำเนินงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ.2553 โดยมีประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมกว่า 700 คน

นายรณชิต แย้มสะอาด รองผู้ว่าการ (บริหาร) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รักษาการแทนผู้ว่าการ รฟม.เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว รฟม.จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อนำเสนอผลการศึกษา จากนั้นจะสรุปข้อมูลที่มีการปรับเปลี่ยนแนวเส้นทาง เสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. พิจารณาได้ประมาณกลางปี 2558 และจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป โดยคาดว่าจะเปิดเดินรถได้ในปี 2563

โดยก่อนหน้านี้ รฟม.ได้เชิญชาวบ้านในพื้นที่ในดินแดง ประชาสงเคราะห์ พระราม 9 ประมาณ 150 คน มาร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตลิ่งชัน-มีนบุรี (สายตะวันตก ศูนย์วัฒนธรรม -ตลิ่งชัน) เพื่อหาทางออกช่วงตัดผ่านพื้นที่ถนนประชาสงเคราะห์ ดินแดง ที่มีการคัดค้านอย่างหนักจากประชาชนในพื้นที่ โดย รฟม.ได้มีการศึกษา และเสนอปรับแนวเส้นทางช่วงดังกล่าวใหม่เพื่อลดผลกระทบผู้ถูกเวนคืนประมาณ 150 หลังคาเรือนลง ส่งผลประหยัดงบประมาณเวนคืนได้ 500 ล้านบาท ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย

ในการประชุมครั้งนี้ รฟม. ได้มีการนำเสนอการศึกษาความเหมาะสมของแนวเส้นทางโดยได้พิจารณาศึกษา 2 ทางเลือก ได้แก่ แนวทางเลือกที่ 1 เส้นทางตามแผนแม่บทฉบับปัจจุบัน เริ่มจากสถานีรางน้ำ ไปตามถนนราชปรารภ และถนนดินแดง แล้วเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่ากลางกรุงเทพมหานคร 2 ที่สถานีดินแดง เข้าถนนประชาสงเคราะห์ไปเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ เบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 จนถึงสถานี รฟม.

และแนวทางเลือกที่ 2 เส้นทางศึกษาเพิ่มเติม มีเส้นทางเริ่มจากสถานีรางน้ำ ไปตามถนนราชปรารภ และถนนดินแดง เข้าสู่ถนนพระราม 9 และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีพระราม 9 จากนั้นวิ่งต่อไปตามถนนพระราม 9 จนถึงสถานี รฟม. ซึ่งการศึกษาเปรียบเทียบแนวเส้นทางทั้ง 2 เส้นทางนี้ ได้คำนึงถึง 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ด้านการให้บริการผู้โดยสารและการพัฒนาเมือง ด้านวิศวกรรม ด้านการลงทุน และด้านสิ่งแวดล้อม สามารถสรุปผลการศึกษาได้ดังนี้

1.ปัจจัยด้านการให้บริการผู้โดยสาร และการพัฒนาเมือง ทั้ง 2 แนวทางเลือกมีผู้มาใช้บริการใกล้เคียงกัน และมีความพร้อมในการจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการเชื่อมต่อการเดินทาง และการพัฒนาพื้นที่สำหรับส่งเสริมการบริการ และการพัฒนาเมือง

2.ปัจจัยด้านวิศวกรรม ทั้ง 2 แนวทางเลือกสามารถจัดการเดินรถไฟฟ้า ความปลอดภัยในการให้บริการ การก่อสร้าง และการบำรุงรักษาให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิศวกรรม

3.ปัจจัยด้านการลงทุน แนวทางเลือกที่ 1 มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงกว่าทางเลือกที่ 2

4.ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม แนวทางเลือกที่ 1 มีผู้ถูกเวนคืนที่ดิน และพื้นที่อ่อนไหวทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบด้านเสียง และฝุ่นละอองจากการก่อสร้างสูงกว่าทางเลือกที่ 2

สำหรับกรณีที่มีประชาชนในย่านราชปรารภได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง เพื่อก่อสร้างสถานีราชปรารภนั้น รฟม. ได้ศึกษาหาแนวทางลดผลกระทบ และพิจารณาให้มีการยกเลิกสถานีราชปรารภ รวมถึงปรับเปลี่ยนตำแหน่งสถานีรางน้ำ ให้เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีมักกะสันแทน เพื่อช่วยลดผลกระทบแก่ประชาชน และลดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น