xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กจิน” นั่งหัวโต๊ะสางปัญหารถไฟ เร่งแผนฟื้นฟูแก้หนี้แสนล้าน ตั้งเป้าปี 62 ไม่ขาดทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” ประชุมแก้ปัญหารถไฟ เร่งสรุปแผนฟื้นฟูแก้หนี้กว่าแสนล้าน ตั้งเป้าเสนอ กนร.ใน ธ.ค.นี้ ย้ำต้องปรับปรุงบริการเพิ่มรายได้ขนส่งสินค้า ดึงเอกชนร่วมปรับรูปแบบขนส่งครบวงจร Door to Door ให้การบ้าน 4 ข้อ ศึกษารถไฟฟรีจัดกลุ่มผู้ได้สิทธิ์ สำรวจทรัพย์สินรายแปลง และภาระหนี้แต่ละส่วน มั่นใจทำตามแผนหลังปี 62 จะไม่ขาดทุน และปีต่อไปมีกำไรแน่นอน


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) วันนี้ (15 พ.ย.) ว่า ได้มอบหมายให้ ร.ฟ.ท.ทำรายละเอียดแผนฟื้นฟูเพิ่มเติมใน 4-5 ประเด็น จากนั้นจะเร่งสรุปเพื่อนำเสนอแผนฟื้นฟูต่อคณะกรรมการนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) เพื่อให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูให้ได้ในกลางเดือนธันวาคมนี้ โดยเบื้องต้นจะเสนอให้กระทรวงการคลังช่วยเหลือแก้ปัญหาภาระหนี้สะสมกว่าแสนล้านบาทของ ร.ฟ.ท. โดยภาระหนี้สินประมาณ 5 หมื่นล้านบาทนั้นอาจจะใช้วิธีให้คลังจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้ หรือโอนทรัพย์สินบางส่วนของ ร.ฟ.ท.ที่มีมูลค่าเท่ากับหนี้สินให้คลัง หรือ ร.ฟ.ท.กับคลังใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินร่วมกัน โดยให้เป็นรูปแบบการเช่าใช้ นอกจากนี้ยังมีภาระบำนาญและผลขาดทุนจากการดำเนินงานอีกส่วนหนึ่ง

ซึ่งประเมินว่าหากสามารถแก้ปัญหาหนี้สินได้ประมาณ 7 หมื่นล้านบาทและลดภาระดอกเบี้ยและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ โดยเน้นการเพิ่มรายได้ด้านลอจิสติกส์ การขนส่งสินค้า พัฒนาบุคลากร และปรับปรุงระบบการซ่อมบำรุง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาข่วยในอนาคต และการก่อสร้างรถไฟทางคู่ขนาดราง 1 เมตรทยอยแล้วเสร็จ และมีรถไฟทางคู่ขนาดทางมาตรฐาน 1.435 เมตรตามแผน จะสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้บริการในเรื่องความปลอดภัยและตรงต่อเวลา จะทำให้ ร.ฟ.ท.จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ยและภาษีและค่าเสื่อมราคา (Ebitda) หลังปี 2562 ประมาณ 137 ล้านบาท และในปีต่อไปจะมีกำไรสุทธิ

“ร.ฟ.ท.ต้องพัฒนาขีดความสามารถคนในองค์กร ต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ โดยเฉพาะการขนส่งสินค้าต้องเพิ่มสัดส่วนให้มากขึ้น ต้องกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ด้านเวลาการขนส่งเพื่อความแน่นอน หากไม่ได้ตาม KPI ต้องมีการปรับ ซึ่งในปี 58 ร.ฟ.ท.จะร่วมมือกับเอกชนในการบริการขนส่งสินค้าให้เป็นแบบครบวงจร Door to Door ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนผู้โดยสารจะเน้นเรื่องความสะดวก ซึ่งจะมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 58 รถชั้น 3 ห้องน้ำจะเป็นระบบปิด มีตู้คนพิการ ขึ้นลงสะดวก มีประกันภัยบุคคลที่ 3” รมว.คมนาคมกล่าว

โดยให้ ร.ฟ.ท.เร่งศึกษาความชัดเจนใน 4 ประเด็นเพื่อประกอบในแผนฟื้นฟู คือ 1. การบริการรถไฟฟรี ว่ากลุ่มใดควรได้รับบริการฟรีต่อไป กลุ่มใดควรต้องรับภาระจ่ายค่าบริการบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงและลดภาระขาดทุนของ ร.ฟ.ท.ลง 2. ศึกษาการเชื่อมต่อระบบระหว่างรถไฟขนาด 1 เมตร กับขนาด 1.435 เมตร ว่าในอนาคตในช่วงรอยต่อจะมีการเดินรถอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีเข้ามาบริหารจัดการอย่างไร หรือจะแยกเป็น 2 ระบบ 3. ให้สำรวจที่ดินเพื่อจัดทำรายละเอียดมูลค่าทรัพย์สินที่มี และแนวทางการบริหารเพื่อเพิ่มรายได้ โดยจะแยกได้ว่าที่ดินแปลงใดมีมูลค่าเท่าไร มีแผนการบริหารอย่างไร ปัจจุบันใครเป็นผู้ใช้ประโยชน์ 4. ภาระหนี้สินในแต่ละส่วน

ส่วนปัญหาจุดตัดรถไฟเร่งด่วน 584 แห่งนั้น เร็วๆ นี้จะมีการหารือร่วมกันระหว่าง ร.ฟ.ท. กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางแก้ปัญหา และความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงาน เพื่อดำเนินการแก้ไขโดยการจัดทำเครื่องกั้น ระบบสัญญาเตือนให้ครบทั้ง 584 แห่งภายในปลายปี 59 โดยหลักการจะใช้งบประมาณทั้งของคมนาคมและท้องถิ่นร่วมกันตามความเหมาะสม โดยใน 584 แห่งจะมี 50% ที่ต้องใช้เครื่องกั้นอัตโนมัติค่าก่อสร้างประมาณ 4 ล้านบาทต่อแห่ง ส่วนอีกประมาณ 50% จะใช้ระบบเตือน เช่น ลูกระนาด, ป้าย, สัญญาณเตือน ค่าก่อสร้างเฉลี่ย 1 แสน-1.6 ล้านบาทต่อแห่ง

ด้านนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีภาระหนี้สินสะสมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้เสนอแนวทางให้กระทรวงการคลังล้างหนี้ทั้งหมด (Set Zero) โดยอาจจะใช้ที่ดินบางส่วนชำระหนี้ เข่น ที่ดินสถานีแม่น้ำ ย่านพหลโยธิน หรือ กม.11 ซึ่งต้องหารือในรายละเอียดร่วมกับกระทรวงการคลังต่อไป นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังมีภาระค่าดอกเบี้ยประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี และภาระค่าบำนาญอีกกว่า 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งการหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำมาสวอปเงินกู้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย ในขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาบริการ ทำระบบลอจิสติกส์ เพื่อหารายได้จากการขนส่งสินค้าซึ่งการขนส่งด้วยรถไฟมีต้นทุนที่ต่ำประมาณ .97 บาทต่อ กม. เมื่อเทียบกับขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนถึง 4 บาทต่อ กม. ดังนั้น ร.ฟ.ท.จะต้องสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้ผู้ประกอบการมาใช้บริการเพิ่ม
กำลังโหลดความคิดเห็น