เผยแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมวงเงินรวม 2 ล้านล้าน เร่งด่วนปี 58 วงเงิน 6.89 หมื่นล้าน และระยะยาว 10 ปี (59-68) อีก 1.938 ล้านล้าน ปูพรมวางยุทธศาสตร์เชื่อมทุกโหมดขนส่ง บก ราง น้ำ อากาศ และเปิดประตูเชื่อมเส้นทางกับอาเซียน “ประจิน” ยัน ต.ค.สรุปรายละเอียดเสนอ ครม.อนุมัติได้
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กรอบลงทุนแผนปฏิบัติการด้านคมนาคมขนส่ง (Action Plan) ในยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย มีกรอบเงินลงทุนรวมประมาณ 2.006 ล้านล้านบาท แยกเป็นโครงการระยะเร่งด่วนปี 2558 วงเงิน 68,977 ล้านบาท และระยะยาว 10 ปี (2559-2568) มีกรอบลงทุนอยู่ที่ 1.938 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ ใน 4 เป้าหมาย 5 แผนงานแยกเป็น 1. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง 509,640 ล้านบาท 2. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายขนส่งสาธารณะเพื่อแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 631,291 ล้านบาท 3. แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถทางหลวงเชื่อมโยงฐานการผลิตและเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน 587,437 ล้านบาท 4. แผนงานการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ 76,666 ล้านบาท และ 5. แผนงานการเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการขนส่งทางอากาศ 132,974 ล้านบาท
โดยกรอบวงเงินลงทุนจะครอบคลุม 4 ด้าน คือ 1. ทางถนน 706,466 ล้านบาท (36.45%) 2. ทางราง 1,021,903 ล้านบาท (52.73%) โดยเป็นรถไฟทางคู่ 509,640 ล้านบาท (26.30%) รถไฟฟ้า 512,262 ล้านบาท (26.43%) 3. ทางน้ำอยู่ที่ 76,666 ล้านบาท (3.96 %) และ 4. ทางอากาศ 193,974 ล้านบาท (6.86%)
สำหรับโครงการจะเริ่มต้นในปี 2558 มีวงเงิน 68,977 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงประตูการค้าระหว่างประเทศ จำนวน 25,306 ล้านบาท เช่น ท่าเทียบเรือชายฝั่งแหลมฉบัง ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ, ดอนเมือง, ภูเก็ต และโครงข่ายถนนสนับสนุน
2. การพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับประตูการค้าชายแดน จำนวน 1,522 ล้านบาท เช่น ถนนสายโพนพิสัย-บึงกาฬ ตอน 1 ถนนตาก-แม่สอด ถนนกาฬสินธุ์-อ.สมเด็จ สายตราด-หาดเล็ก
3. การพัฒนาระบบโครงข่ายคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองหลักในภูมิภาคจำนวน 13,021 ล้านบาท เช่น ก่อสร้างถนนสี่ช่องจราจร บูรณะทางสายหลัก มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด
4. การแก้ปัญหาการจราจรจากเมืองหลักในภูมิภาคสู่ปริมณฑลและกรุงเทพพฯ วงเงิน 16,948 ล้านบาท เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว, สีส้ม, สีชมพู, สีเหลือง และการจัดซื้อรถเมล์ NGV
5. การพัฒนารถไฟทางคู่ วงเงิน 9,219 ล้านบาท เช่น ปรับปรุงระบบ อุปกรณ์ และโครงสร้างพื้นฐานทางราง รถไฟทางคู่
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการตาม Action Plan ของกระทรวงคมนาคมจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะทำให้มีความชัดเจนว่าโครงการลงทุนพัฒนาทั้งถนน ราง น้ำ และอากาศ จะใช้เงินลงทุนสุดท้ายเท่าไร จากนั้นจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเนื่องจากได้มีการปรับแผนการลงทุนจากเดิมที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อนุมัติไว้ 8 ปีเป็น 10 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณด้วย