“ณรงค์ชัย” ประกาศเดินหน้าปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้เสร็จใน 1 ปี ส่งสัญญาณผู้ใช้ปรับตัวรับมือ NGV LPG ดีเซลขาขึ้น ขณะที่กลุ่มเบนซินจะมีทิศทางลดลง เหตุที่ผ่านมาโครงสร้างบิดเบือนไม่เป็นธรรม พร้อมลุยเปิดสำรวจปิโตรเลียมทั้งในและนอกประเทศ ตั้งคณะทำงานร่วมเจรจาพื้นที่ทับซ้อนปิโตรเลียมไทย-กัมพูชาแล้วหวังชัดเจนเรื่องพื้นที่สัมปทาน นายกฯ ตบเท้าไปพม่าร่วมมือพัฒนาพลังงานเปิดโอกาส “ปตท.-กฟผ.” ร่วมมือ ลั่นจะเดินหน้าโรงไฟฟ้าถ่านหินเพื่อลดค่าไฟ
นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการมอบนโยบายให้แก่ข้าราชการและหน่วยงานสังกัดกระทรวงฯ วันนี้ (3 ต.ค.) ว่า นโยบายที่จะเร่งดำเนินการคือทยอยปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนและเกิดความเป็นธรรม รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาษีสรรพสามิตที่ดีเซลจะต้องสูงขึ้นและกลุ่มเบนซินจะต้องลดลง โดยทั้งหมดจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 ปี
“ดีเซล แอลพีจีโดยเฉพาะภาคขนส่ง และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ถูกมาก หลายคนบอกว่าทำไมรัฐไม่ขึ้นแอลพีจีขนส่งไปทีเดียวเลย ก็ต้องเข้าใจว่าคนซื้อรถเขาตัดสินใจลงทุนแล้วก็เปลี่ยนมาใช้เพราะคิดว่าราคาจะถูกอย่างนี้ไปตลอดก็ไม่ใช่ความผิดของเขา เราก็กำลังให้สัญญาณใหม่เพื่อที่จะได้มีเวลาปรับตัว เราจะค่อยๆ ขยับราคาพลังงานที่ต่ำกว่าเป็นจริงไปเรื่อยๆ ไปสู่ราคาที่ถูกต้อง ดังนั้นราคาเบนซินและแก๊สโซฮอล์อนาคตจะต้องถูกลงและดีเซลจะต้องแพงขึ้น” นายณรงค์ชัยกล่าว
นอกจากนี้จะเน้นการดูแลความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้นภายใน 1 ปีก็จะเร่งดำเนินการตัดสินใจในเรื่องการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ และการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของการแสวงหาแหล่งพลังงาน เช่น กรณีแหล่งปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา ที่ล่าสุดการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ สปป.ลาวเมื่อเร็วๆ นี้ไทยและกัมพูชาได้มีข้อตกลงตั้งคณะทำงานร่วมกันขึ้นมาเพื่อที่จะหารือรายละเอียดในการกำหนดความร่วมมือในการพัฒนาโดยเฉพาะการกำหนดความชัดเจนในพื้นที่สัมปทาน
สำหรับพม่าเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือด้านความมั่นคงที่สำคัญเนื่องจากไทยมีการนำเข้าก๊าซฯ จากพม่ามาผลิตไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งตลอด 20 ปีมานี้ไทยนำเข้าก๊าซฯ จากพม่าแล้วถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะจะเดินทางไปยังพม่าระหว่าง 9-10 ต.ค.นี้ เพื่อที่จะตกลงความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกับไทยโดยเฉพาะการพัฒนาด้านระบบการค้าขายน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งไทยมีกลุ่มบริษัทพลังงานที่เข้มแข็งคือ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
“พม่าเราพึ่งเขามากไปด้วยซ้ำ ปิดท่อก๊าซฯ เมื่อไหร่เราตายแน่ เขาเองก็ต้องการความร่วมมือกับเราเพราะเรามีกลุ่มพลังงานที่แข็งแรงอย่าง ปตท. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. และ กฟผ. พม่าเขาไม่มีไฟ มีน้อย ดังนั้นอยากให้เราไปช่วยพัฒนาไฟฟ้า และระบบปั๊มน้ำมันไม่ค่อยดีเหมือนเรา ปตท.ก็จะไปดู เรื่องจำหน่ายน้ำมันที่สนามบิน ดูเรื่องโรงกลั่นน้ำมัน นายกฯ ท่านก็จะไปพูดเรื่องความร่วมมือ ทั้งผลิตก๊าซ ไฟฟ้า ช่วยพัฒนาระบบค้าขายพลังงานในพม่าสำคัญมากเงินเป็นระดับแสนๆ ล้าน ถือเป็นโอกาสของไทยมากๆ” นายณรงค์ชัยกล่าว
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า อีกเรื่องที่จะต้องเร่งดำเนินการคือ จะต้องสร้างโรงไฟ้ฟ้าถ่านหินให้ได้ตามแผนภายในปีงบประมาณ 2558 ก็จะต้องชัดเจน เพราะไทยเองหากต้องการราคาค่าไฟที่ถูกก็ต้องพึ่งถ่านหินเพราะมีค่าไฟถูกสุดรองลงมาจึงเป็นก๊าซธรรมชาติ ขณะที่พลังงานทดแทนไทยเองก็ส่งเสริมแต่ต้องยอมรับว่ามีค่าไฟที่แพง ดังนั้นในเรื่องนี้จะมีการทำควบคู่ไปกับการรณรงค์การลดใช้พลังงานหรือแผนอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งขณะนี้ได้มีการจัดสรรงบประมาณที่จะดำเนินการในปี 2558 แล้ว ซึ่งนโยบายนี้จะช่วยลดการใช้ไฟลงมา ซึ่งก็หมายถึงการลดการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในที่สุด