ผ่าประเด็นร้อน
การเดินทางเยือนพม่า หรือ เมียนมาร์ ในวันที่ 9-10 ตุลาคม นี้ ถือเป็นการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าควบคุมอำนาจในนามหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นครั้งแรกในฐานะนายกรัฐมนตรี
สำหรับสาเหตุที่เลือกเยือนพม่าเป็นประเทศแรก ก็ได้รับการอธิบายว่าเป็นการลำดับความสำคัญตามความเหมาะสม เป็นการกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ พม่าเป็นประธานอาเซียนด้วย
ก่อนหน้านี้ จากการแถลงของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ระบุว่า การเดินทางไปครั้งนี้จะเน้นการเจรจาในเรื่องความร่วมมือในโครงการ “เขตเศรษฐกิจทวาย” เพื่อให้ทุกอย่างเดินหน้า
แน่นอนว่า โครงการดังกล่าวมีมูลค่ามหาศาล ที่มีการต่อยอดมาจากรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่จากเดิมเป็นการลงทุนโดยภาคเอกชน (กลุ่มบริษัท อิตาเลียนไทยฯ) มาเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า และเมื่อต้นสัปดาห์นี้ได้มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ได้เชิญชวนให้รัฐบาลญี่ปุ่นมาร่วมลงทุนในโครงการทวายนี้ด้วย แต่ก็ยังได้รับคำตอบไม่ชัดเจนนัก
นอกจากนี้ คงมีการเจรจากันถึงเรื่องปัญหาชายแดน เขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดน การร่วมมือแก่ปัญหายาเสพติด ความมั่นคงอะไรทำนองนี้
แต่ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าจับตามองมากไปกว่านั้น ก็คือ คำพูดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่ผ่านมา ถึงความร่วมมือด้านพลังงานกับพม่า ว่า
“นายกรัฐมนตรี และคณะ จะเดินทางไปยังพม่าระหว่าง 9-10 ต.ค.นี้ เพื่อที่จะตกลงความร่วมมือด้านพลังงานร่วมกับไทยโดยเฉพาะการพัฒนาด้านระบบการค้าขายน้ำมันและไฟฟ้า ซึ่งไทยมีกลุ่มบริษัทพลังงานที่เข้มแข็ง คือ บมจ.ปตท. และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)”
“พม่าเราพึ่งเขามากไปด้วยซ้ำ ปิดท่อก๊าซเมื่อไหร่เราตายแน่ เขาเองก็ต้องการความร่วมมือกับเรา เพราะเรามีกลุ่มพลังงานที่แข็งแรงอย่าง ปตท. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. และ กฟผ. พม่าเขาไม่มีไฟ มีน้อย ดังนั้น อยากให้เราไปช่วยพัฒนาไฟฟ้า และระบบปั๊มน้ำมันไม่ค่อยดีเหมือนเรา ปตท. ก็จะไปดู เรื่องจำหน่ายน้ำมันที่สนามบิน ดูเรื่องโรงกลั่นน้ำมัน นายกฯ ท่านก็จะไปพูดเรื่องความร่วมมือ ทั้งผลิตก๊าซ ไฟฟ้า ช่วยพัฒนาระบบค้าขายพลังงานในพม่าสำคัญมากเงินเป็นระดับแสนๆ ล้าน ถือเป็นโอกาสของไทยมากๆ”
นั่นเป็นคำพูดที่เปิดเผยออกมาจากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ณรงค์ชัย อัครเศรณี ทำให้เห็นภาพว่าการเดินทางไปพม่าคราวนี้ วาระสำคัญที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ ความร่วมมือด้านพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องก๊าซและน้ำมัน ที่ใช้บริษัท ปตท. เข้าไปดำเนินธุรกิจ สำรวจปิโตรเลียม ตั้งโรงกลั่นน้ำมัน และธุรกิจปั๊มน้ำมัน เป็นต้น และแน่นอนว่านี่คือ"ผลประโยชน์นับแสนๆล้านบาท"ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุเอาไว้
ขณะเดียวกัน เรายังได้ทราบถึงความคืบหน้าในเรื่องเขตพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ในอ่าวไทย หรือบางกลุ่มเรียกว่า “เขตทับซ้อนปิโตรเลียม” ก็ได้รับข้อมูลล่าสุดจากปากของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนนี้เช่นเดียวกัน ว่า ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียนที่ลาว เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้มีข้อตกลงระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อ “ตั้งคณะทำงานร่วม” เพื่อหารือรายละเอียดในการกำหนดความร่วมมือในการพัฒนาโดยเฉพาะการกำหนดความชัดเจนในพื้นที่สัมปทาน แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีปัญหาในเรื่องเขตแดนกันบ้าง แต่ตอนนี้ทุกอย่างมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ซึ่งเรื่องนี้จะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้ รวมทั้งการปรับโครงสร้างด้านพลังงานทั้งระบบที่ต้องทำภายใน 1 ปี
และที่ต้องจับตาต่อเนื่องกันไปก็คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในวันที่ 22 ตุลาคมนี้ ว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องการออกใบอนุญาตให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบ ที่ 21 ด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ไม่พิจารณารูปแบบ “แบ่งปันผลผลิต” โดยอ้างว่าระบบสัมปทานรัฐได้ประโยชน์มากกว่า
แน่นอนว่าด้วยอำนาจ “พิเศษ” แบบเบ็ดเสร็จของรัฐบาล และ คสช. สามารถเจรจาในเรื่องดังกล่าวกับต่างประเทศได้สะดวก ราบรื่น ดังนั้น ได้แต่ภาวนาว่า ทุกอย่างต้องโปร่งใส มีจิตสำนึกเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ !!