กลุ่ม ปตท.ปูพรมขยายการลงทุนอาเซียน โดยเน้นไปยังพม่าและอินโดนีเซีย ทั้งธุรกิจไฟฟ้า โรงกลั่น และโรงแยกก๊าซฯ ในพม่า ส่วนอินโดนีเซียก็เข้าไปลงทุนในโรงกลั่นและปิโตรเคมีฯ เช่นเดียวกับเวียดนาม และอยู่ระหว่างศึกษานำ LNG ไปทำตลาดโรงงานอุตฯ ที่เขมรด้วย
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่การตลาดค้าปลีก บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.ศึกษาโอกาสการขยายการลงทุนเพิ่มเติมในประเทศอาเซียนนอกเหนือจากที่ลงทุนไปแล้ว โดยจัดลำดับความสำคัญในแต่ละประเทศอาเซียนพบว่าประเทศที่น่าสนใจเข้าไปลงทุนมากที่สุด คือ อินโดนีเซีย และพม่า รองลงมาดังนี้ คือ กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ถัดไปเป็นลาว ฟิลิปปินส์ และบรูไน
โดยประเทศพม่า ทางกลุ่ม ปตท.สนใจจะเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้า 2 โรง ขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ และ 100 เมกะวัตต์ นอกจากนี้ ไทยออยล์จะเข้าร่วมประมูลเพื่อปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันที่ Thanlyin กำลังการผลิต 2 หมื่นบาร์เรล/วัน พบว่ามีผู้เข้าร่วมประมูลโรงกลั่นดังกล่าวจำนวนมากนับ 10 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายปีนี้
นอกจากนี้ ปตท.ยังสนใจจะเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ และวางท่อก๊าซฯ ในประเทศพม่าที่ยังมีความต้องการใช้พลังงานอีกมาก ซึ่ง ปตท.เองได้มีการเข้าไปลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพม่ามานาน และมีความสัมพันธ์ที่ดี โดยยอมรับว่าหลังจากพม่าเปิดประเทศ ปตท.สผ.เข้าไปร่วมการประมูลสัมปทานปิโตรเลียมจะชนะประมูลได้น้อยลงก็ตาม
ส่วนอินโดนีเซียนั้น ทางกลุ่ม ปตท.มีแผนจะเข้าไปลงทุนธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมีร่วมกับเปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจพลังงานของอินโดนีเซีย โดย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอลอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่เมืองบาลองกัน เงินลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ส่วนโรงกลั่นน้ำมันจะให้ไทยออยล์เข้าไปร่วมลงทุนในการปรับปรุงและขยายกำลังกลั่นเพิ่มขึ้นรวมเป็น 3.6 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อนำผลพลอยได้จากโรงกลั่นมาเป็นวัตถุดิบป้อนให้โครงการปิโตรเคมีต่อไป
นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า ปตท.ยังอยู่ระหว่างการศึกษาที่จะรุกธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรมทดแทนการใช้น้ำมันเตาและภาคขนส่งในกัมพูชาด้วย โดยจะนำเข้า LNG จากไทยไปจำหน่ายที่กัมพูชา สืบเนื่องจาก ปตท.อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) หรือ LNG Receiving Terminal เฟส 2 ทำให้มีความสามารถในการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็น 10 ล้าน อีกทั้งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อทำตลาด LNG ป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในไทยทดแทนการใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิงเช่นกัน คาดว่าจะทำตลาดได้ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า
นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.เตรียมยื่นผลการศึกษาความเป็นไปได้โครงการโรงกลั่นและปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ให้รัฐบาลเวียดนาม มูลค่าเงินลงทุน 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการลงทุนขนาดใหญ่สุดในเวียดนาม นอกเหนือจากปัจจุบันที่ ปตท.สผ.ได้มีการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในแปลงในเวียดนามอยู่แล้ว รวมทั้งการทำตลาดโซลเวนต์และน้ำมันเครื่อง ส่วนบรูไน ปตท.ก็สนใจที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหิน
นายอรรถพลกล่าวต่อไปว่า ทาง ปตท.ได้กำหนดเป้าหมายเป็นผู้นำด้านสถานีบริการน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีแผ่นดินติดกับไทย วางแผนจะขยายปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นจาก 137 แห่งเป็น 282 แห่งภายใน 5 ปีข้างหน้า ใน 4 ประเทศที่มีการลงทุนขยายปั๊มน้ำมันไปอยู่แล้ว ใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท ได้แก่ พม่าจะเพิ่มปั๊มจาก 3 แห่งในปีนี้เป็น 24 แห่ง ฟิลิปปินส์จาก 85 แห่งเป็น 148 แห่ง ลาวจาก 27 แห่งเป็น 60 แห่ง และกัมพูชาจาก 22 แห่งเป็น 50 แห่ง ส่วนประเทศเวียดนามและจีนตอนใต้นั้นก็พร้อมจะเข้าไปลงทุนทันทีหากทั้งสองประเทศมีนโยบายเปิดเสรี