xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” จี้ บขส.สรุปย้ายหมอชิต เผยธนารักษ์เปิดทางกลับตามข้อตกลงเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม
“คมนาคม” เร่ง บขส.สรุปย้ายสถานีหมอชิต สบช่อง กรมธนารักษ์เปิดทางให้กลับหมอชิตเก่าได้ตามข้อตกลงเดิม เผยทำเลเหมาะศูนย์คมนาคมขนส่งเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งมวลชนสะดวก คาดสรุปเสนอ “ประจิน” ตัดสินใจ

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ บขส. และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงแนวทางการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ (จตุจักร) หรือหมอชิตแห่งใหม่ กลับมายังบริเวณหมอชิตเก่า ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า ของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส เนื่องจากกรมธนารักษ์ มีโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิต เนื้อที่รวม 63 ไร่ จึงได้มีหนังสือสอบถามว่า ทาง บขส.ยังยืนยันที่จะใช้พื้นที่หมอชิตเก่าตามข้อตกลงเดิมหรือไม่ ที่มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 1แสนตารางเมตร และจะมีการปรับแบบก่อสร้างอย่างไรหรือไม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่โดยรอบในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ทาง บขส.กลับไปจัดทำแผนการย้ายสถานีหมอชิตให้ชัดเจนว่าจะมีการบริหารอย่างไร เพราะนอกจากพื้นที่หมอชิตเก่าแล้ว ยังมีพื้นที่ในบริเวณสถานีกลางบางซื่อมากกว่า 9 ไร่ ที่จะเป็นศูนย์ด้านคมนาคม โดยให้นำเสนอกลับมาเร็วที่สุด โดยในเบื้องต้น จะยืนยันกลับไปที่กรมธนารักษ์เพื่อรักษาสิทธิตามข้อตกลงซึ่งเป็นมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เดิมไว้ก่อน ส่วนรายละเอียดต่างๆ นั้น ทุกฝ่ายจะต้องประชุมร่วมกันเพื่อสรุปให้พร้อมที่จะนำเสนอต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาต่อไป

“ตามหลักศูนย์คมนาคมขนส่งควรอยู่ในเมืองเพื่อให้มีความสะดวกในการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชน การส่งต่อผู้โดยสารจะมีความสะดวก ซึ่งทั้งบริเวณสถานีกลางบางซื่อ และหมอชิตเก่านั้นมีความเหมาะสม ประเด็นคือ บขส.ต้องไปพิจารณาว่าจะบริหารจัดการการเดินรถอย่างไร สามารถแยกรถสายสั้น หรือที่เส้นทางที่เป็นฟีดเดอร์ส่งต่อผู้โดยสารกับรถไฟสายสีแดง ก็อาจจะให้อยู่ในพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนรถสายยาว อาจจะมาใช้ที่หมอชิตเก่า โดยจะต้องออกแบบโครงสร้างการใช้พื้นที่ และทางเข้าออกสถานีให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจราจรด้านถนนพหลโยธินและวิภาวดีรังสิต ซึ่งเดิมนั้นออกแบบเป็นแลมป์ยกระดับเข้าออกไว้แล้วอาจจะปรับปรุงให้เหมาะสมต่อภาวะปัจจุบัน เป็นต้น” นางสร้อยทิพย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บขส. ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ศึกษาหาพื้นที่ในการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ เพื่อแก้ปัญหาความแออัด และหมดสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) โดยศึกษาไว้ 3 พื้นที่ ประกอบด้วย ดอนเมือง เมืองทองธานี และรังสิต ว่าพื้นที่ใดมีความเหมาะสมมากที่สุด แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ โดย บขส.มีเงินทุนสำหรับย้ายสถานีหมอชิตประมาณ 3,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น