ปตท.สผ.เผยโครงการ ROVUMA ที่โมซัมบิก คาดลงทุนพัฒนาโครงการได้กลางปีหน้า หลังมีสัญญาซื้อขาย LNG แล้ว 5.4 ล้านตัน/ปี และเจรจาขายให้อินเดียเพิ่มเติมอีก โดย ปตท.จะรับซื้อก๊าซ LNG 2.6 ล้านตัน/ปี ส่วนแหล่ง M 3 ที่พม่า คาดสรุปปริมาณสำรองก๊าซฯ ที่แน่นอนปลายปีนี้ ก่อนตัดสินใจว่ากลุ่ม ปตท.จะลงทุนโรงแยกก๊าซฯ และปิโตรเคมีหรือไม่
นายอัษฎากร ลิ้มปิติ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยความคืบหน้าการลงทุนโครงการ ROVUMA ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติชนาดใหญ่ในรัฐโมซัมบิก ของบริษัท Cove Energy ที่ ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 8.5% ว่า ขณะนี้สามารถเจรจาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นสัญญาระยะยาวได้แล้วประมาณ 5.4 ล้านตันต่อปี และอยู่ระหว่างการเจรจาขาย LNG ให้แก่อินเดียเพิ่มเติม และบางส่วนจะเป็นการขายในตลาดจร เพื่อให้ปริมาณการผลิตที่วางไว้ 10 ล้านตัน/ปี คาดว่ากลางปีหน้าจะตัดสินใจลงทุนพัฒนาโครงการ (FID) และผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2562
สำหรับลูกค้าที่ตัดสินใจซื้อขาย LNG ระยะยาว จำนวน 5.4 ล้านตัน ประกอบด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ปริมาณ 2.625 ล้านตัน CNOOC ประมาณ 2 ล้านตัน และที่เหลือเป็นญี่ปุ่น เบื้องต้นต้องสัญญาซื้อขาย LNG ระยะยาว 70% ของปริมาณการผลิต โดยราคาขาย LNG จะอ้างอิง Henry Hub และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 12-14 เหรียญสหรัฐ/ตัน
ทั้งนี้ ปตท.สผ.จะใช้เงินลงทุนในโครงการดังกล่าวตามสัดส่วนการถือหุ้น 8.5% ประมาณ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ส่วนแหล่งแคช/เมเปิล ที่ออสเตรเลียนั้น เบื้องต้นได้สรุปปริมาณสำรอง LNGอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านลบ.ฟุต ซึ่งเพียงพอที่จะลงทุนโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (Floating Liquefaction Natural Gas Production หรือ FLNG) แต่การลงทุนโครงการ FLNG ค่อนข้างสูง หากราคา LNG ในตลาดอยู่ที่ 12 เหรียญสหรัฐ/ตัน ก็ยังไม่ค่อยคุ้มการลงทุน ซึ่งแนวโน้มราคา LNG จะอ่อนตัวลงมาระดับหนึ่ง หรืออาจจะลิงค์ต่อท่อก๊าซฯ กับแหล่งใกล้เคียงเพื่อป้อนขายก๊าซฯ ในออสเตรเลีย
นายอัษฎากร กล่าวต่อไปว่า ในวันที่ 12 ก.ย.นี้ นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน จะเดินทางไปพม่าในวาระครบรอบ 25 ปี ที่ ปตท.สผ.เข้าไปดำเนินธุรกิจในพม่า นอกจากนี้ ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลไทย กับพม่าด้วย
โดยปัจจุบัน ปตท.ลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในพม่า จำนวน 12 แหล่ง โดยแหล่งที่สำรวจและผลิตแล้ว เช่น แหล่งยาดานา เยตากุน และซอติก้า (M9) โดยขณะนี้ได้ส่งก๊าซฯ เข้ามาไทย 240 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 270 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งบนบกมี 3 แหล่ง ซึ่งได้มีการเจาะทดสอบศักยภาพในแหล่งพีเอสซีจี พบว่า มีความสามารถอาจผลิตก๊าซได้ ส่วนแหล่ง M3 เบื้องต้นพบว่า มีศักยภาพเจอก๊าซเปียกที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี คาดว่าจะมีความชัดเจนปริมาณสำรองในปลายปีนี้ หากมีเพียงพอทาง ปตท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนตั้งโรงแยกก๊าซฯ และต่อยอดไปสู่ปิโตรเคมีในอนาคต
นอกจากนี้ ในแหล่งปิโตรเลียมน้ำลึก MD7 และ MD8 และ M11 จะลงทุนสำรวจหรือไม่นั้นจะต้องศึกษาถึงศักยภาพที่ชัดเจนก่อน เพราะต้องใช้เงินลงทุนในการเจาะหลุมสูงมากถึง 100 ล้านเหรียญสหรัฐ/หลุม เมื่อเทียบกับการเจาะหลุมสำรวจน้ำตื้นในยอ่าวไทยจะอยู่ที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/ตัน โดยก่อนหน้านี้ลงทุนสำรวจในแหล่ง M11 ไปแล้วแต่ไม่พบ ทำให้เสียเงินไป 70 ล้านเหรียญสหรัฐ
วันนี้ (9 ก.ย.) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จัดกิจกรรม “PTTEP TEENERGY CAMP รู้รักษ์มรดกโลกเขาใหญ่” เพื่อปลุกจิตสำนึก และสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมให้แก่เยาวชนในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยจะคัดเลือกเยาวชนระดับมัธยมปลายทุกภาค จำนวน 60 คนเข้าร่วมกิจกรรมเข้าค่ายเรียนรู้ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนตุลาคมนี้