ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ และส่วนใหญ่สูงสุดในรอบ 13 เดือน หลัง “บิ๊กตู่” ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกฯ และมีการจัดตั้ง ครม. แต่เริ่มพบสัญญาณแผ่วหลังสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าวและยางส่งออกไม่ดีอย่างคาด และค่าครองชีพยังสูง แนะรัฐบาลเร่งใช้จ่ายงบประมาณ และเลิกกฎอัยการศึกจังหวัดท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ส.ค. 2557จากกลุ่มตัวอย่าง 2,252 คนทั่วประเทศว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน และดัชนีส่วนใหญ่สูงสุดในรอบ 13 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมอยู่ที่ 80.1 เพิ่มขึ้นจาก 78.2 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 62 เพิ่มจาก 60.4 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 86.6 เพิ่มจาก 84.7 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 70.1 เพิ่มจาก 68.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 73.6 เพิ่มจาก 71.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 96.4 เพิ่มจาก 94.6
ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นสูงขึ้น มาจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเป็นนายกรัฐมนตรีและมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2% สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์จีดีพีปี 2558 ไว้ที่ 3.5-4.5% และราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวลดลง
ส่วนปัจจัยลบก็ยังคงมีอยู่แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากนัก ได้แก่ สศช.ปรับลดประมาณการจีดีพีปีนี้เหลือ 1.5-2.0% จากเดิม 1.5-2.5% การส่งออกเดือน ก.ค.ยังติดลบ 0.9% และ 7 เดือนติดลบ 0.4% ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.14 บาทต่อลิตร ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวในระดับต่ำ ผู้บริโภคกังวลปัญหาค่าครองชีพสูง และความกังวลต่อความไม่แน่นอนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
สำหรับดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เท่ากับ 104.6 เพิ่มขึ้นจาก 102.7 ดัชนีความเหมาะสมการซื้อบ้านหลังใหม่เท่ากับ 82.4 เพิ่มขึ้นจาก 79.7 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเท่ากับ 81.6 เพิ่มขึ้นจาก 78.4 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ (SMEs) เท่ากับ 67.4 เพิ่มขึ้นจาก 64.6
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างต่อเนื่องมาจากการมีนายกรัฐมนตรีมี ครม.เข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งเห็นได้จากดัชนีความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันและอนาคตปรับตัวดีระดับสูงสุดในรอบ 88 เดือน นับจากที่ได้ทำการสำรวจมาในเดือน พ.ค. 2549 โดยดัชนีต่อการเมืองปัจจุบันและดัชนีต่อการเมืองในอนาคตเพิ่มจาก 80.8 จุด และ 98.4 จุด ในเดือน ก.ค. เป็น 87.5 จุด และ 91.9 จุด ในเดือน ส.ค. และมีแนวโน้มว่าดัชนีจะทะลุ 100 จุดครั้งแรกปลายปี 2557 หรือต้นปี 2558
อย่างไรก็ตาม แม้ทิศทางดัชนีความเชื่อมั่นจะปรับตัวเป็นบวก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบต่อความเชื่อมั่น โดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ทั้งข้าวและยางพารา รวมถึงการส่งออกที่ยังไม่น่าจะดีตามที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะโต 3.5% โดยศูนย์ฯ ประเมินว่าน่าจะโตได้ 1-1.5% เท่านั้น เพราะเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างยุโรปยังไม่ฟื้น จีนกับญี่ปุ่นก็มีปัญหาการขึ้นภาษีภายในประเทศ ขณะที่ประชาชนกำลังซื้อก็เริ่มแผ่วลง ทำให้ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย รวมทั้งยังมีปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น
สำหรับสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ คือ เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ 1 แสนล้านบาทช่วงปลายปี ทั้งรูปแบบการลงทุนภาครัฐและการกระจายโครงการต่างๆ ไปยังส่วนภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการจ้างงานและกระจายรายได้ และควรพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเพื่อดึงเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่เป็นช่วงไฮซีซัน เพราะการส่งออกไม่น่าจะดี จึงเหลือเพียงแค่การลงทุนภาครัฐและการท่องเที่ยวที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ
“คาดว่าปี 2557 จีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 1.5-2% แต่หากรัฐไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาส 4 ก็มีโอกาสที่จีดีพีจะขยายตัวได้เพียง 1.5% เท่านั้น ส่วนปี 2558 เชื่อว่าจีดีพีจะขยายตัว 4-5% เพราะได้แรงส่งที่ดีจากช่วงปลายปีนี้ รวมถึงความชัดเจนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ” นายธนวรรธน์กล่าว