คาดบอลโลกปีนี้เงินสะพัดเฉียด 7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% หลังการเมืองนิ่ง ห้างร้านจัดโปรโมชั่นกระตุ้นลูกค้า เผยเป็นมูลค่าพนันบอลสูงถึง 4.3 หมื่นล้านบาท น่าห่วงเกิดหนี้ภาคครัวเรือนพุ่ง เหตุผู้มีรายได้น้อย ลูกจ้าง นักศึกษา นิยมแทงบอล
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในช่วงมหกรรมฟุตบอลโลก 2014 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 12 มิ.ย.–13 ก.ค. 2557 ที่ประเทศบราซิล ว่า ประชาชนจะมีการใช้จ่ายมูลค่า 69,245.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งก่อน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มมีความมั่นใจในการใช้จ่ายมากขึ้น หลังจากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงบรรดาห้างร้านต่างๆ ได้จัดโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม และจัดกิจกรรมลุ้นรางวัลการทายผลบอลโลก
ทั้งนี้ ยอดการใช้จ่ายมูลค่า 69,245.6 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้จ่ายด้านการพนันบอล 43,530.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% การซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคและสังสรรค์ 21,917.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15.2% การซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์รับสัญญาณ 2,496.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.2% และอื่นๆ เช่น ซื้อหวย สลากกินแบ่งรัฐบาล และของที่ระลึก 1,301.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.4%
นายธนวรรธน์กล่าวว่า ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีสิ่งที่น่าเป็นห่วง ก็คือ เรื่องของการพนัน ที่มีประชาชนเข้ามาเล่นพนันมากขึ้น โดยจากการสำรวจฟุตบอลโลกครั้งก่อน คนที่เล่นพนันบอลเพื่อหวังเงินรางวัลมีเพียงจำนวน 1 ใน 3 ของผู้ที่เล่นพนันทั้งหมด ซึ่งจะเป็นสัดส่วนที่เท่ากับการเล่นเพื่อตามกระแส และเล่นเพื่อความสนุกสนาน แต่ฟุตบอลโลกครั้งนี้ มีสัดส่วนผู้ที่เล่นพนัน เพราะหวังเงินรางวัลจากการพนันเพิ่มขึ้นเป็น 51.3% โดยวงเงินพนันเฉลี่ย 5,072 บาทต่อนัด ส่วนการเล่นเพื่อความสนุกสนานลดลงเหลือเพียง 18.1% และตามแฟชั่น 9.5%
“การพนันนอกระบบ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดหนี้ภาคครัวเรือนสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือลูกจ้างรายวัน และกลุ่มนักศึกษา เพราะการผิดนัดชำระหนี้มีอัตราสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ที่มีรายได้ประจำ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกกฎหมายพนันฟุตบอล กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 54.4% เห็นว่าไม่ควรเปิดให้มีการพนันฟุตบอลอย่างถูกกฎหมาย เพราะจะยิ่งทำให้การพนันขยายตัวมากขึ้น ขณะที่ 35% มองว่าควรเปิดให้มีการพนันโดยรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ และ 10.6% เห็นว่าเอกชนควรเป็นผู้ดำเนินการ
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า เงินที่นำมาใช้จ่ายช่วงบอลโลก พบว่า เป็นเงินเดือน 53.8% รองลงมาเป็นเงินออม 21.9% เงินโบนัสหรือรายได้อื่นๆ 11.5% เงินจากผู้ปกครอง 9.9% เงินกู้ยืม 2.9% และอื่นๆ อีก 0.1% โดยค่าใช้จ่ายที่จะจ่ายมากที่สุดในช่วงบอลโลก คือ การจ่ายพนันบอล รองลงมาเป็นการซื้อทีวี วิทยุ คอมพิวเตอร์ ค่าไฟฟ้า ค่าติดตั้งกล่องรับสัญญาณของอาร์เอส ไปทานข้าวในร้านอาหาร การซื้อของที่ระลึก ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่งเอสเอ็มเอสชิงรางวัล ซื้อไปรษณียบัตร ขนมขบเคี้ยว และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น
สำหรับข้อเสนอแนะในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก ศูนย์ฯ มีข้อเสนอว่า ให้ดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิดในการรับชมฟุตบอลโลก ให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนในการเรื่องของโทษและสิ่งที่จะได้รับเมื่อติดพนันบอล ส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเล่นกีฬา ควรมีการถ่ายทอดซ้ำในคู่ที่เป็นที่นิยม ให้ตำรวจตรวจตราเพิ่มมากขึ้นเพื่อป้องกันอาชญากรรมและการทะเลาะวิวาท