ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย.หัวทิ่มต่อ ต่ำสุดในรอบ 150 เดือน หลังคนกังวลการเมืองไร้ข้อยุติ ค่าครองชีพพุ่ง เศรษฐกิจยังชะลอตัว จับตาแนวโน้มลดลงอีกจากการเมืองเป็นหลัก เผยหากมีรัฐบาลเร็วโอกาสเศรษฐกิจฟื้นตัวสูง แต่ถ้าไม่ มีโอกาสไม่ขยายตัวเลย ส่วนเงินสะพัดเปิดเทอมปีนี้พุ่ง 5.5 หมื่นล้าน เหตุข้าวของแพงขึ้น
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือน เม.ย. 2557 ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วประเทศ 2,253 คนว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ และเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 13 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 150 เดือน นับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2544 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค. 2557 อยู่ที่ 67.8 ลดจาก 68.8 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบันอยู่ที่ 53.0 ลดจาก 53.9 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 72.3 ลดจาก 73.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 57.7 ลดจาก 58.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 61.9 ลดจาก 62.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 83.8 ลดจาก 84.9
ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาจากความกังวลเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง และความไม่แน่นอนทางการเมืองว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ได้หรือไม่ และจะเกิดความรุนแรงทางการเมืองหรือไม่ รวมถึงความล่าช้าในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว การส่งออกเดือน มี.ค.ที่ยังลดลง 3.1% ราคาน้ำมันยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ค่าครองชีพยังอยู่ในระดับที่สูง และเศรษฐกิจชะลอตัว
ส่วนปัจจัยบวกในเดือน เม.ย. มีเพียงแค่ดัชนี SET Index เพิ่มขึ้น 38.68 จุด คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2% เงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย และน้ำมันดีเซลยังอยู่ในระดับ 29.99 บาทต่อลิตร
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจดังกล่าวยังไม่รวมกรณีศาลรัฐธรรมนูญตัดสินกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และการชี้มูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีโครงการรับจำนำข้าวจึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะลดลงอีกมากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าแนวโน้มคงไม่ดีขึ้น เพราะปัจจัยทางการเมืองยังไม่ชัด จึงส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น กำลังซื้อ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ หากไม่มีการเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค.นี้ โอกาสที่จะมีรัฐบาลในเดือน ก.ย.ก็หมดไป ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้และปีหน้า และหากเกิดความรุนแรงก็จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของประชาชน สุดท้ายจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง โดยไตรมาสแรกปีนี้คาดว่าจีดีพีจะติดลบ 1-2% ไตรมาส 2 ติดลบ 1% ส่วนครึ่งปีหลัง ถ้ามีรัฐบาลจีดีพีก็จะขยายตัวเป็นบวกได้ แต่ถ้ายังไม่มีรัฐบาลจีดีพีทั้งปีมีโอกาสโต 0-2%
นายธนวรรธน์กล่าวถึงผลสำรวจการใช้จ่ายผู้ปกครองในช่วงเปิดเทอม ปี 2557 ที่สำรวจจากประชาชน 1,254 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 30 เม.ย.-6 พ.ค. 2557 ว่า ปีนี้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีบุตรศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีจะมีมูลค่า 47,145 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.21% จากปีก่อนที่มีเงินสะพัด 46,124.55 ล้านบาท เพราะราคาสินค้าแพงขึ้น ทั้งเสื้อผ้า รองเท้า ถุงเท้า กระเป๋า เครื่องเขียน และหนังสือเรียน ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองจำนวนมากต้องการให้บุตรได้ศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง จึงจำเป็นต้องมีการจ่ายค่าแปะเจี๊ยะสูงขึ้น
ทั้งนี้ หากรวมค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองจะต้องจ่ายให้บุตรที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีเข้าไปด้วย จะทำให้มูลค่าการใช้จ่ายปีนี้เพิ่มขึ้นเป็น 55,000 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีมูลค่า 53,614 ล้านบาท
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ศูนย์ฯ ยังได้สำรวจค่าใช้จ่ายในช่วงเทศกาลวันวิสาขบูชา โดยคาดว่าปีนี้จะมีมูลค่าการใช้จ่าย 4,990.95 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3.5%