xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีเชื่อมั่น ก.พ.ต่ำสุดรอบ 12 ปี คนเซ็งการเมือง ชาวนาไม่ได้เงิน เตรียมปรับจีดีพีอีกเหลือ 2-3% เหตุการเมืองป่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ.หัวทิ่มหนัก ต่ำสุดในรอบ 12 ปี เหตุสารพัดปัญหารุมเร้า ทั้งปัญหาการเมือง ชัตดาวน์กรุงเทพฯ ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชาวนาไม่ได้เงินค่าจำนำข้าว สินค้าเกษตรราคาตก แถมหนักสุดกว่าช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์และน้ำท่วมใหญ่ เตรียมปรับเป้าจีดีพีปีนี้ใหม่เป็นครั้งที่ 3 ลดเหลือ 2-3% จากปัญหาการเมืองเป็นหลัก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยเดือน ก.พ. 2557 ปรับตัวลดลงทุกรายการ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอยู่ระดับ 69.9 ลดจาก 71.5 โดยเป็นอัตราที่ต่ำสุดรอบ 148 เดือน หรือ 12 ปี 4 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 2544 ส่วนดัชนีเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันเท่ากับ 54.5 ลดจาก 56.0 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคตเท่ากับ 74.7 ลดจาก 76.4 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 59.7 ลดจาก 61.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานเท่ากับ 63.6 ลดจาก 65.1 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 86.3 ลดจาก 88.1

สาเหตุที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นลดลงเป็นเพราะคนกังวลสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง การชัตดาวน์กรุงเทพฯ การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ที่ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ การประกาศใช้ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 60 วัน ความล่าช้าในการจ่ายเงินในโครงการรับจำนำข้าว ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ โดยเฉพาะยางพาราคาต่ำมาอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ต่ำกว่า 2-3 ปีก่อนที่ราคา 180 บาทต่อ กก. และปัญหาค่าครองชีพที่ยังคงอยู่ในระดับสูง

“ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ในสภาวะที่ถดถอยมากกว่าในช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2552 หรือช่วงน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 เพราะในครั้งนี้ยังมองไม่เห็นความหวังจนผู้บริโภคไม่มีความเชื่อมั่น โดยปัญหาหลักๆ เป็นเรื่องปัญหาทางการเมือง การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่กระทบต่อการลงทุนและการท่องเที่ยว รวมถึงกรณีความล่าช้าในการจ่ายเงินโครงการรับจำนำข้าวที่ทำให้การบริโภคในต่างจังหวัดลดลงอย่างมาก เนื่องจากชาวนาไม่มีเงินในการซื้อสินค้า” นายธนวรรธน์กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์ฯ คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลง ขณะที่การบริโภคก็มีแนวโน้มลดลงเช่นเดียวกันเพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้น เพราะคนยังกังวลปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลายไปในทางใด ซึ่งหากอยากให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจะต้องเร่งเจรจาหาทางออกทางการเมืองให้เร็วที่สุด และต้องยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของ 7 องค์กรภาคเอกชน

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ศูนย์ฯ จะปรับประมาณการอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ใหม่ เป็นครั้งที่ 3 จาก 4-5% เหลือ 2-3% เนื่องจากปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง รวมถึงความล่าช้าในการได้รัฐบาลชุดใหม่เพื่อมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และในอนาคตอาจจะปรับประมาณการอีก หากสถานการณ์ทางการเมืองรุนแรงมากกว่านี้จนเกิดการปะทะกัน หรือรัฐบาลชุดใหม่สามารถจัดตั้งได้ล่าช้าหลังไตรมาสที่ 2 หรือไตรมาส 3 ของปี

“ครั้งแรกศูนย์ฯ ได้คาดการณ์จีดีพีไทยปี 2557 ที่ระดับ 4-5% ในช่วงเดือน ธ.ค. 2556 แล้วมาเปลี่ยนใหม่ครั้งที่ 2 ในช่วง ม.ค. 2557 ที่ระดับ 3-4% และในเดือน มี.ค. จะปรับใหม่เป็น 2-3% แต่ในเดือน มี.ค.นี้ถือว่าเป็นประกาศปรับตัวเลขอย่างเป็นทางการในครั้งแรก เนื่องจากทางศูนย์ฯ เริ่มเห็นสัญญาณต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น จากก่อนหน้านี้ถือว่าเป็นการปรับตัวเลขที่ยังไม่เป็นทางการ” นายธนวรรธน์กล่าว

นายวชิร คูณทวีเทพ อาจารย์ประจำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจยังพบว่าดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจเอสเอ็มอียังอยู่ในระดับต่ำเท่ากับ 63.2 ต่ำสุดในรอบ 104 เดือน เนื่องจากผู้ประกอบการประเมินว่าขายสินค้าได้ลำบากจึงชะลอการลงทุนออกไปก่อน ขณะที่ความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์ เท่ากับ 94.7 ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านเท่ากับ 60.5 ต่ำสุดในรอบ 104 เดือน และดัชนีความเหมาะสมในการท่องเที่ยวเท่ากับ 72.6 ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 57 เดือน
กำลังโหลดความคิดเห็น