หน.ปชป.ซัดนายกฯ ทำตัวเป็นอุปสรรคแก้ปัญหาบ้านเมือง สวนทางที่พูดว่าโอเพนเอเวรีดอร์ ชี้ทำเหมือนว่าไม่สำเร็จก็ล้มกระดาน เหน็บ “เหลิม” เสนอหน้าเจรจา กปปส. ไร้ประโยชน์ ต้องให้เจ้าตัวเจรจาเอง ระบุวุฒิสภา สามารถเสนอชื่อนายกฯ ม.7 ได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจเกิดข้อถกเถียงตามมา จวกโพสต์เฟซบุ๊กมั่วนิ่มถูกตัดสิทธิ์จีเอสพีโยงการเมือง
วันนี้ (6 มี.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าหลังวันที่ 3 เม.ย. จะไม่มีรัฐบาลรักษาการ ว่า ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการตีความทางกฎหมายจะว่าอย่างไร เพราะถ้าจะรอให้ศาลหรือองค์กรอิสระจะชี้แต่ละคดี คงเป็นไปได้ยาก เพราะในที่สุดต้องมีการแก้ไขปัญหาทางการเมือง แต่แทนที่รัฐบาลหรือนายกฯ จะช่วยนำการเมืองมาแก้ไขปัญหา กลับทำตัวเป็นอุปสรรคทุกด้าน แม้ในบทบาทที่ศาลทำได้ กลับเป็นว่ามีการไปปลุกระดมมวลชน ให้ไม่ยอมรับอำนาจศาล หรืออำนาจองค์กรอิสระ ขณะที่มวลชนชุมนุมโดยสงบก็กลับมีการสร้างสถานการณ์ใช้ความรุนแรงเอากำลังมาทำร้ายกัน จึงขอเรียกร้องว่าขบวนการทางการเมืองต้องไม่เป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหา เพราะกฎหมายและมวลชนตอบทุกอย่างไม่ได้ ต้องมีการตกลงร่วมกันจึงจะเดินหน้าไปได้
“จากที่รัฐบาลเคยพูดว่าจะเปิดทุกประตู แต่วันนี้เค้าปิดทุกประตู (Close every doors) จึงต้องถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเปิดทุกประตู และระบุว่าหลายเรื่องจะเดินลำบาก แต่กลับไม่ช่วยแก้ปัญหาเลย กลับยืนขวางทุกทาง เพื่อรักษาอำนาจไปเรื่อยๆและท้าทายว่า แน่จริงก็มาเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่ใช่ความประสงค์ของคนส่วนใหญ่ที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้าบนกติกาที่ทุกคนยอมรับ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่มีเจตนาที่ต้องการล้มกระดานหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า รัฐบาลทำเหมือนกับว่า ถ้าตัวเองอยู่ได้และทำในสิ่งที่ต้องการสำเร็จก็ทำ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็หาทางให้ล้มแบบมีปัญหา เป็นยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่คิดว่าจะได้ประโยชน์เพราะหากทำสำเร็จก็ได้สิ่งที่ต้องการ แต่ถ้าไม่สำเร็จก็หวังพลิกสร้างสถานการณ์ว่าเป็นฝ่ายที่ถูกรังแก ถูกทำลาย โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของบ้านเมืองที่ต้องหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชน จึงเหมือนมีแผน 3 ขั้น ที่ตอนนี้ยืนยันว่า ออกไม่ได้ ต้องเลือกตั้งให้เสร็จ ผู้ชุมนุมกลับบ้าน ทั้งที่รู้ว่าเป็นไปได้ยาก แต่ก็ยือเอาไว้ เพราะระหว่างที่ไม่สำเร็จก็รักษาการต่อไป
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีปัญหาข้อกฏหมายที่ไม่ชัดเจนในการแก้ปัญหารัฐบาลรักษาการว่ายังคงมีสถานะหรือสิ้นสภาพไปแล้วว่า หากจะนำประเพณีปฏิบัติมาอ้างเพื่อปรับใช้ ก็ใช้ได้ในระดับหนึ่งแต่ก็ถูกโต้แย้งได้ง่ายเช่นกัน ที่สุดก็หนีไม่พ้นที่ฝ่ายการเมืองต้องทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของคำตอบ การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เสนอตัวจะเป็นคนเจรจากับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส.นั้น ตนเห็นว่าไม่มีประโยชน์เพราะ ร.ต.อ.เฉลิม ไม่ใช่ผู้นำรัฐบาล ไม่มีอำนาจตัดสินใจ ก็ไม่ต่างจากกรณีที่นายกฯ ส่งนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ไปเจรจากับ กกต.เพื่อหาทางออกการเลือกตั้ง ก็ไม่สามารถหาทางออกได้ ดังนั้นที่ ร.ต.อ.เฉลิม จะไปคุยก็ไม่มีผลอะไร เพราะไม่มีอำนาจออกพระราชกฤษฎีกา น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงควรมาเจรจาเอง แม้ว่าเบื้องหลังจะมีคนอื่นควบคุมอยู่ แต่เป็นผู้มีอำนาจทางกฎหมาย ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิม ไม่มี ไม่ได้เป็นหัวหน้ารัฐบาล ถึงอยากจะเป็นก็ไม่ใช่
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยื้อไปได้อีกนานแค่ไหน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่ห่วง น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ห่วงประเทศว่า เดือดร้อน หากยังยื้อเพื่อประโยชนของตัวเองก็มองไม่เห็นว่า จะยื้อได้ตลอดไป และไม่ได้ตามต้องการอย่างไร จึงควรเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่รอให้กระบวนการทางกฎหมายคลี่คลายในแต่ละคดี เพราะจะมีการตีความเรื่องอื่นๆ เพิ่มตามมาอีก เช่น หาก ป.ป.ช.ชี้มูล แล้วต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ก็ต้องมีการส่งเรื่องตีความอีกเรื่องการพ้นจากรักษาการ ต้องเถียงกันอีกว่าจะทำอย่างไรต่อ จะเป็นการเพิ่มคดีซ้ำขึ้นมาอีก ดังนั้นการคลี่คลายทางกฎหมายในแต่ละเรื่อง ไม่ได้ให้คำตอบในขั้นต่อไป เพราะศาลไม่มีหน้าที่บอกว่าต้องทำอะไรต่อ แต่มีหน้าที่ตัดสินข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเวลานั้นเท่านั้น
เมื่อถามต่อว่า สถานะภาพของ ส.ว.ถือว่าเป็นตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาได้ เฉพาะในเรื่องที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ถ้ามีเงื่อนไขที่ไม่มีการระบุในรัฐธรรมนูญ วุฒิสภาก็อยู่ในสถานะใกล้เคียงที่สุดในการทำหน้าที่นิติบัญญัติ เมื่อถามย้ำว่า ส.ว.สามารถเสนอชื่อนายกฯ ตามมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า ได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็จะมีการถกเถียงกันอีก อย่างไรก็ตามหากสามารถเสนอชื่อได้ก็จะไม่มีปัญหา ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า นายกฯต้องมาจาก ส.ส.เพราะเวลานี้ไม่มี ส.ส.อยู่แล้ว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊ก อ้างว่าปัญหาทางการเมืองส่งผลกระทบต่อการเจรจากับสหภาพยุโรป (อียู) เพื่อแก้ปัญหาการถูกตัดสิทธิ์จีเอสพี ว่า จีเอสพีจะหมดอายุในสิ้นปีนี้อยู่แล้ว และเป็นเรื่องที่รู้มานานแล้ว ซึ่งแนวทางก็คาดหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรีเพื่อมาทดแทนหรือบรรเทาผลกระทบซึ่งผ่านสภา ซึ่งผ่านสภาไปแล้วแต่การเจรจาที่หยุดชงัก เพราะนายกฯไม่เร่งหาทางออกทางการเมืองปล่อยให้ยืดเยื้อ ก็ยุ่งยากที่จะเดินหน้าเจรจาต่อ เพราะประเทศไทยไม่แน่นอนทางการเมืองก็ไม่มีใครอยากเจรจาด้วย แต่เมื่อไหร่ที่บ้านเมืองไทยมีความแน่นอนเห็นจุดร่วมที่จะผลักดันได้ ก็เชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นอียู หรือที่ใดก็มั่นใจจะเจรจากับเรา ดังนั่นปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง เพราะถ้าเห็นแก่ประเทศ ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่เกิดปัญหาลุกลาม
“คุณยิ่งลักษณ์ พรรคเพื่อไทยและคุณทักษิณ ยังมีความคิดที่จะเรียกร้องให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลง ถ้าแค่นี้ยังไม่ทบทวนจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างไรเพราะเป็นที่มาของปัญหาทั้งหมด ฉะนั้นอย่ามาอ้างสถานการณ์ ณ จุดใดจุดหนึ่งเพื่อโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเมื่อถึงเวลาที่ต้องสร้างการเมืองที่ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งไม่ได้สำคัญที่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่คนเป็นรัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย ไม่คิดทำตัวอยู่เหนือกฎหมายล้างผิดให้ตัวเอง ส่วนกรณีที่นายชัยเกษม (นิติสิริ รมว.ยุติธรรม) ระบุว่า จำเป็นต้องรับคำวินิจฉัยของศาลแม้บางครั้ง จะตัดสินว่า สุกรเป็นสุนัขก็ตามนั้น ผมว่า ก็ยังดีที่เคารพศาล แต่ไม่รุ้ว่าเขาสมมติด้วยเหตุผลใด ซึ่งที่ผ่านมา ศาลชี้ว่าสุกร เป็นสุกร พรรคเพื่อไทยยังบอกว่าเป็นสุนัขเลย” นายอภิสิทธิ์ กล่าว