ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีดตัวขึ้นอีกเป็นเดือนที่สอง สูงสุดในรอบ 8 เดือน หลังเกิดความเชื่อมั่นต่อ คสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศ ขณะที่ความเชื่อมั่นทางการเมืองก็พุ่งขึ้นถึง 10 จุด เผยไม่เคยเจอปรากฏการณ์แบบนี้ในรอบ 16 ปีตั้งแต่ทำการสำรวจมา เชื่อยังปรับตัวสูงขึ้นได้อีก
นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มิ.ย. 2557 ว่า ดัชนีปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่สอง และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเท่ากับ 75.1 เพิ่มขึ้นจาก 70.7 เมื่อเดือน พ.ค. เป็นการเพิ่มขึ้น 5 จุด ซึ่งถือว่าค่อนข้างมาก ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเท่ากับ 65.3 เพิ่มจาก 60.7 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานทำเท่ากับ 68.1 เพิ่มจาก 64.2 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 92.0 เพิ่มจาก 87.1
ปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคดีขึ้น สาเหตุหลักๆ มาจากการเข้ามาบริหารประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังวันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการเมืองโดยรวมดีขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังจะฟื้นตัวดีขึ้น และคาดว่าปี 2558 เศรษฐกิจจะขยายตัวดีขึ้นเป็น 5.5% จากเดิม 4.8% ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงลิตรละ 40 สตางค์ และดีเซลลดลงลิตรละ 14 สตางค์ ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น 70 จุด และค่าเงินบาทยังทรงตัวในระดับที่อ่อนค่าในระดับเดิมมาอยู่ที่เฉลี่ย 32.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ ผลจากการที่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น โดยดัชนีความเหมาะสมในการซื้อรถยนต์คันใหม่เพิ่มจาก 106.8 มาอยู่ที่ 109.7 ดัชนีความเชื่อมั่นในการซื้อบ้านหลังใหม่เพิ่มจาก 77.8 มาอยู่ที่ 80.8 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวเพิ่มจาก 98.1 มาอยู่ที่ 101.7 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจ SME เพิ่มจาก 80.2 มาอยู่ที่ 83.0
ส่วนผลสำรวจภาวการณ์ทางสังคมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง และอยู่ในระดับสูงสุดเป็นเดือนที่เก้า โดยดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตอยู่ที่ 80.4 ดัชนีภาวะค่าครองชีพอยู่ที่ 52.4 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดอยู่ที่ 53.1 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองอยู่ที่ 69.1 เพิ่มจาก 59.6 ในเดือน พ.ค. หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 10 จุด
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเจอหลังจากทำการสำรวจมาแล้ว 16 ปี โดยที่ดัชนีปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกัน 2 เดือน รวมแล้ว 7-8 จุด เพราะปกติจะเพิ่มขึ้นเพียง 3-4 จุดในเดือนแรก และจากนั้นจะค่อยๆ ปรับขึ้น แต่ครั้งนี้เป็นการเพิ่มขึ้นค่อนข้างแรง ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตยังค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นด้วย
“ดัชนีที่ปรับตัวขึ้นโดดเด่นมาก คือ ดัชนีความคิดเห็นต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่ปรับขึ้นถึง 10 จุด และแนวโน้มในอนาคตยังปรับตัวขึ้นมาก เพราะผู้บริโภคมองว่าการเมืองมีเสถียรภาพเร็วหลัง คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ทำให้คนกล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวงและปริมณฑลความเชื่อมั่นปรับขึ้นเร็วและแรงมาก ตามมาด้วยภาคกลาง และภาคตะวันออก” นายธนวรรธน์กล่าว
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจะมีการแถลงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกครั้งในวันที่ 31 ก.ค. 2557 โดยจะต้องสอบถามความเห็นด้านเศรษฐกิจจากสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศอีกครั้ง รวมถึงขอดูผลกระทบจากกรณีที่สหรัฐฯ จัดให้ประเทศไทยอยู่ในปัญชี Tier3 ในด้านการค้ามนุษย์ โดยขณะนี้มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีโอกาสโตได้เกิน 2% ส่วนปี 2558 คาดว่าจะเห็นดัชนีเชื่อมั่นเข้าใกล้ระดับ 100 ขณะที่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโต้ถึง 5% ได้