อนุฯ ป.ป.ช.ไล่บี้ ขสมก.แก้ทีโออาร์ซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน เปิดราคากลางรถแอร์ไม่เกินคันละ 3.6 ล้าน รถร้อนไม่เกินคันละ 3 ล้าน แฉราคากลาง ขสมก.แพงเกินจริงเกือบ 2.7 พันล้าน ส่งต่อคณะอนุ กก.มาตรการป้องกันการทุจริตรับลูกต่อ หวังเบรก ขสมก.ทบทวนก่อนขายซอง 28 ส.ค.นี้ สงสัย คสช.เมินข้อท้วงติงทั้งที่ข้อมูลชัด ทีโออาร์ไม่โปร่งใส ล็อกสเปก
นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน วงเงิน 13,162.2 ล้านบาท เปิดเผยภายหลังการประชุมวันนี้ (26 ส.ค.) ว่า ที่ผ่านมาคณะอนุฯ ป.ป.ช.ได้ตรวจสอบการจัดทำทีโออาร์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และได้วิเคราะห์ความเห็นเสนอไปที่ ขสมก.เพื่อปรับแก้ไขให้เหมาะสม รวมถึงได้รวบรวมข้อมูลราคากลางที่เหมาะสมและปัญหาที่มาราคากลางของ ขสมก.ไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้วแต่ไม่มีการพิจารณาใดๆ โดย ขสมก.ยังคงยืนยันราคากลางตามเดิม และเดินหน้าเปิดประกวดราคาและกำหนดให้ผู้สนใจซื้อเอกสารประกวดราคาในวันที่ 28 สิงหาคม-3 กันยายน 2557 และให้ยื่นเอกชนประกวดราคาวันที่ 18 กันยายน 2557 โดยคาดว่าจะได้รับมอบรถโดยสารปรับอากาศ สัญญา 6 จำนวน 489 คันเป็นล็อตแรกในเดือนมกราคม 2558
ดังนั้น ที่ประชุมในครั้งนี้เห็นว่าควรต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะอนุกรรมการมาตรการป้องกันการทุจริต ที่มีนายเมธี ครองแก้ว เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันที่ 27 สิงหาคม เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช.อีกทางหนึ่ง หลังจากก่อนหน้านี้ได้เสนอผลการตรวจสอบในส่วนของคณะอนุฯ ป.ป.ช.ชุดเฝ้าระวังไปให้ ป.ป.ช.แล้วแต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ
“เรื่องสำคัญคือ ที่มาของราคากลาง และเงื่อนไขในทีโออาร์กำหนดคุณสมบัติในการคัดเลือกผู้ชนะ ซึ่งผมได้ประสานกับกรรมการทีโออาร์ ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรฯ แล้ว ก็ยอมรับว่าทีโออาร์ที่ออกมาไม่ได้ดีที่สุด แต่อ้างว่าการจะหาราคากลางโดยละเอียดจะต้องแยกชิ้นส่วน ถอดแต่ละอันออกมา ทำให้เสียเวลา ซึ่งเรื่องนี้ผมยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะที่กรมศุลกากรมีข้อมูลครบถ้วน ตลาดซื้อขายรถมีราคาหมด แต่ไม่ทำ เป้าหมายของคณะอนุฯ ป.ป.ช.คือทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อให้รัฐเสียหายน้อยที่สุด ตอนนี้ต้องการเข้าไปชี้แจงต่อ คสช.ให้รับทราบว่าควรปรับปรุงทีโออาร์ในเรื่องราคากลางและวิธีการคัดเลือกอย่างไร แต่ไม่มีการตอบสนองจากทุกฝ่าย เหมือนไม่อยากได้ข้อมูล ซึ่งยิ่งทำให้เห็นว่าโครงการนี้เป็นธุรกิจการเมืองอย่างชัดเจน และขอตั้งข้อสังเกตว่า หัวใจของการซื้อขายต้องมีผลประโยชน์ตอบแทนเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงต้องกำหนดราคากลางให้เอื้อด้วย” นายไพโรจน์กล่าว
นายไพโรจน์กล่าวว่า ขอยืนยันผลการตรวจสอบและเปรียบเทียบราคากลางรถโดยสาร NGV ซึ่งได้จากกรมศุลกากรโดยยึดต้นทุนที่เสียภาษีแล้ว สำหรับรถนำเข้าสำเร็จรูปและการนำเข้าแชสซีส์พร้อมเครื่องยนต์ บวกกำไร 20% พบว่าราคากลางที่เหมาะสมสำหรับรถโดยสาร NGV ธรรมดา (รถร้อน) จำนวน 1,659 คัน อยู่ที่ไม่เกินคันละ 3 ล้านบาท รถโดยสาร NGV ปรับอากาศ (รถแอร์) จำนวน 1,524 คัน ไม่เกินคันละ 3.6 ล้านบาท วงเงินรวม 10,463 ล้านบาท ส่วน ขสมก.กำหนดราคากลางรถร้อนที่คันละ 3.8 ล้านบาท สูงกว่า 26% รถแอร์คันละ 4.5 ล้านบาท สูงกว่า 25% คิดเป็นวงเงิน 13,162 ล้านบาท หรือเท่ากับสูงกว่าราคากลางที่ควรจะเป็นถึง 2,699 ล้านบาท ซึ่งได้เสนอข้อมูลสาระสำคัญไว้ในรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.แล้ว โดยราคากลางที่แตกต่างกันเกิดจากข้อสมมติกำไรที่ผู้ประกอบการต้องการ หากยังคงดำเนินการต่อไปตามเดิมจะสร้างความเสียหายต่อรัฐแน่นอน
นอกจากนี้ ทางคณะอนุฯ ป.ป.ช.ยังได้รับการติดต่อจากนายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ที่มีความเห็นว่าข้อมูลหลักฐานวิธีการทำงานและการได้มาซึ่งราคากลางของ ขสมก.มีข้อบกพร่องมากเช่นกัน และเสนอให้ ป.ป.ช.เสนอแนะไปยัง ขสมก.ให้ปรับปรุงวิธีการหาราคากลางใหม่
นายต่อตระกูล ยมนาค อนุฯ กรรมการ ป.ป.ช.ชุดเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน กล่าวว่า กังวลวิธีการทำงานของ ขสมก.มาก เพราะไม่แสดงให้เห็นว่ามีความโปร่งใสยุติธรรม กรณีราคากลางซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ในการประมูล และเทคนิคการให้คะแนน ที่เข้าข่ายล็อกสเปกตัวรถกำหนดกลุ่มที่จะเข้าประมูลไว้แล้ว