xs
xsm
sm
md
lg

ส่อทุจริตเมล์เอ็นจีวี จี้ประยุทธ์แก้TOR

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อนุฯป.ป.ช.เฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน ทำจดหมายเปิดผนึกถึง”ประยุทธ์”ขอให้แก้ทีโออาร์ใหม่ อ้างเหตุ ต้องการได้รถเร็ว เปิดช่องทุจริต ชี้ขสมก.บกพร่อง กำหนดเงื่อนไขไม่โปร่งใส ราคากลางสูง ทำรัฐเสียหาย เปิดข้อมูลนำเข้ารถจากกรมศุลกากร จี้ปรับลดราคากลาง จะช่วยประหยัดงบประมาณได้ 2-3 พันล้านบาท

นายไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดเฝ้าระวังโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV 3,183 คัน เปิดเผยว่า ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 เพื่อขอให้ให้แก้ไขทีโออาร์ การเปิดประมูลรถโดยสาร NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยจะมีการประชุมคณะทำงานในวันนี้ (26 ส.ค.) ก่อนจะแถลงข่าวการคัดค้านทีโออาร์ รถเมล์ NGV อีกครั้ง

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ข้อความ “Happy Families are all alike, unhappy families are unhappy in their own way” Tolstoy หากพล.อ.ประยุทธ์และคณะทำงานยืนยันที่จะใช้ทีโออาร์เดิม รู้สึกเข้าใจและไม่ขัดข้องในเหตุผลที่ต้องการให้คนกรุงเทพฯมีรถเมล์ใหม่ใช้เร็วที่สุด แต่ไม่เห็นด้วยกับการมีรถเร็วที่ต้องแลกกับความเสียหาย เพราะทีโออาร์ดังกล่าวมีปัญหา ไม่โปร่งใส และข้อบกพร่องร้ายแรง ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ประชาชนผู้เสียภาษีอากร และจะเป็นการที่ได้รถมาอย่างไม่คุ้มค่า

ทั้งนี้ขสมก.แก้ไขทีโออาร์มา 12 ครั้ง ในช่วงกว่า 1 ปี แต่เป็นการแก้ไขแบบพิธีกรรมจึงไม่สะท้อนถึงความโปร่งใส โดยขสมก.ปฎิเสธข้อเสนอแนะที่เป็นสาระสำคัญจากองค์กรในสังคม เช่น ป.ป.ช. องค์การต่อต้านคอรัปชั่น สมาคมและกลุ่มคนพิการ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งๆที่สามารถปรับแก้ไข ในขณะที่พล.อ.ประยุทธ์และคณะทำงานไม่สามารถรู้ทันไม่ติดตามในรายละเอียดปล่อยให้เป็นการตัดสินใจผู้มีอำนาจในภาครัฐดังเดิม

โดยทีโออาร์ มี 4 ประเด็นปัญหาที่ร้ายแรงและควรได้รับการแก้ไข ได้แก่ 1. ราคากลางของรถโดยสารธรรมดาคันละ 3.8 ล้านบาท และรถปรับอากาศคันละ 4.5 ล้านบาทตั้งไว้สูงเกินไป ซึ่งทางสำนักงาน ป.ป.ช. และองค์การต่อต้านคอร์รัปชั่น กลุ่มคนพิการ นักธุรกิจ ได้ให้ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะไว้อย่างละเอียด แต่ไม่มีการแก้ไข 2. หลักเกณฑ์การให้คะแนนทางเทคนิคกำหนดให้คะแนนฟุ่มเฟือยในรายการที่ไม่จำเป็น เพราะไม่ได้บอกถึงความแตกต่างด้านคุณภาพ แต่กลับขาดรายละเอียดเกณฑ์การให้คะแนนทางเทคนิคเพื่อบอกถึงคุณภาพด้านสมรรถนะและความปลอดภัยที่สำคัญมากกว่า 3. เปิดโอกาสให้นำคัสซีรถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถโดยสาร ทั้งที่มีการทักท้วงมาต่อเนื่อง

4.ข้อเรียกร้องในคุณภาพการให้บริการสิทธิในการมีและเข้าถึงบริการรถโดยสารของคนพิการ เด็ก และ คนชรา ในการได้รถโดยสารไร้บันไดสำหรับรถโดยสารทุกประเภท ไม่ได้รับการตอบสนอง 5.การป้องกันไม่ให้มีการแบ่งงานกัน (ฮั้ว)ระหว่างผู้ประมูลโดยไม่จัดให้มีการประมูลพร้อมกันทั้งหมดครั้งเดียว
นายไพโรจน์กล่าวว่า ต้องการให้ข้อมูลแก่พล.อ.ประยุทธ์และคณะทำงานเรื่องราคากลางซึ่งจะช่วยรัฐประหยัดเงินงบประมาณได้เป็นพันล้านบาท เนื่องจากราคากลางที่รัฐน่าจะใช้ควรเป็นราคาที่สะท้อนกำไรปกติ สะท้อนการแข่งขัน ไม่เปิดโอกาสให้ใครได้ประโยชน์จากโครงการของรัฐโดยไม่มีความชอบธรรมหรือเกิดจากการตั้งราคาที่มีการตกลงกันระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้เข้าประมูล และระหว่างผู้เข้าประมูลด้วยกันแต่ขสมก.กำหนดราคากลาง โดยระบุว่ามาจากราคาที่กำหนดไว้สำหรับการของบประมาณซึ่งได้รับการอนุมัติจากครม. ซึ่งตามเอกสารทีโออาร์ไม่เคยแจกแจงรายละเอียดที่ง่ายต่อการเข้าใจและการวิเคราะห์และน่าเชื่อถือว่าคิดราคากลางมาได้อย่างไร อ้างเพียงว่าเป็นราคาที่สอบถามจากผู้ขาย 2-3 บริษัท แล้วได้ราคามาโดยสมมติว่าจะซื้อได้ถูกลงประมาณ 10-15% ราคานี้จึงมีข้อบกพร่องมากสำหรับการประมูลรถครั้งนี้ เพราะเป็นรถสำเร็จรูปที่ประกอบจากต่างประเทศ เสียภาษี 40% -ขณะที่การประมูลครั้งนี้ รถต้องประกอบตัวถังในเมืองไทย ซึ่งจะเสียภาษีที่ต่ำกว่ามากคือ 0-30% ซึ่งจะมีผลต่อราคารถที่ต่ำลง(ยกเว้นรถในเขต 6 จำนวน 489 คันตามทีโออาร์ฉบับที่ 12 ล่าสุด)
โดยข้อมูลที่คณะทำงานติดตามเฝ้าระวังการซื้อรถเมล์ของขสมก.ที่ป.ป.ช. แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกได้แก่รศ.ดร.ไพโรจน์ วงศ์วิภานนท์ (ประธาน) รศ .ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ดร.ต่อตระกูล ยมนาค อ.ศิริบูรณ์ เนาว์ถิ่นสุข และคุณชิดชนก เขมาวุฒานนท์ จากแหล่งต่างๆ ที่น่าเชื่อถือและประโยชน์ที่จะเกิดแก่ภาครัฐและประชาชนและป้องกันทุจริต เช่น ข้อมูลจากกรมศุลกากรระยุว่า 1.กรณีที่เป็นรถโดยสารสำเร็จรูปใช้เชื้อเพลิงก๊าซ CNG จากประเทศจีน (เสียภาษี 40%) รถบัสใช้แก๊ส CNG ปี 2012 สำเร็จรูปชนิด YUTONG ZK122HN9 ราคา 2.87 ล้านบาท (เป็นราคาที่รวมภาษี 9.56 แสนบาท) YUTHONG ZK6770HNGA9 ราคา 2.81 ล้านบาท (เสียภาษี 9.36 แสนบาท) รถซิตี้บัส 12 เมตรราคา 1.953 ล้านบาท (ภาษี 6.49 แสนบาท) รถปรับอากาศชนิด ZHONGTONG LCK6125GC ราคา 2.61 ล้านบาท (ภาษี 8.68ล้านบาท) รถชนิด YUTONG MODEL ZK6770HNGA9 ราคา 2.33 ล้านบาท (รวมภาษี 7.76 แสนบาท)ราคาที่ต่างกันมากอาจเกิดจากความแตกต่างระหว่างรถปรับอากาศกับรถธรรมดา
อย่างไรก็ตามสเปครถของขสมก. เป็นสเปคขั้นต่ำTORไม่ได้กำหนดอะไรที่ต้องเป็นของดีพิสดารที่จะทำให้ราคาสูงขึ้น ดังนั้นสามารถเลือกกลุ่มราคาสูง ระหว่าง 2.6 ถึง 2.87 ล้านบาทได้ กรณีรถนำเข้าคัสซี (Chassis) พร้อมเครื่องยนต์ CNGหากนำเข้าจากประเทศจีน (เสียภาษี 0-30%) เลือกราคาที่สูงที่สุด คือคัสซีพร้อมเครื่องยนต์ CNG ชนิด YAXING YX612HJC ราคา 1.966 ล้านบาท (ซึ่งรวมภาษี 30%ไว้แล้ว 5.52 แสนบาท) นำมารวมกับต้นทุนการประกอบรถปรับอากาศและรถธรรมดาของผู้ประกอบรถยนต์ค่ายยุโรปรายหนึ่ง ราคาสำหรับรถปรับอากาศที่ 1.39 ล้านบาทต่อคัน และรถธรรมดา 9.44 แสนบาทต่อคัน หากกำหนดราคาที่ 80% กับสเปค TOR ขั้นต่ำ ทำให้ได้ราคาตัวถังของรถปรับอากาศที่ 1.1 ล้านบาท และรถธรรมดา 7.54 แสนบาทต่อคัน(ต่างกันประมาณ 3.5 แสน) ถ้าบวกกำไร 10, 20, 30% ให้กับผู้ขายรถ ราคาน่าจะอยู่ที่ระดับใกล้เคียงกับกรณีรถนำเข้าสำเร็จรูป คือประมาณ 3.3-3.9 หรือ 4 ล้านบาทเป็นอย่างมาก ส่วนรถธรรมดามีราคากลางตั้งแต่ใกล้ 3 ล้านบาท ไปจนถึงไม่เกิน 3.5 ล้าน กำไรที่ให้ไว้สูงสุดถึง 30%
ดังนั้นการปรับราคากลางลงมาจะสามารถประหยัดเงินงบประมาณได้ประมาณ 2-3 พันล้านบาท หรือประมาณ 15-25% ซึ่งนับว่าไม่น้อย เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีคนไทยควรได้รับ เงินจำนวนนี้สามารถนำมาใช้จ่ายสำหรับรถไร้บันไดสำหรับคนพิการ
กำลังโหลดความคิดเห็น