“ประจิน” ลาออกจากประธานบอร์ดการบินไทย อ้างไม่มีเวลาทำงาน เหตุนั่งซูเปอร์บอร์ด การบินไทยเผยผลดำเนินงานไตรมาส2/57 ขาดทุนสุทธิ 7,654 ล้าน เหตุจำนวนผู้โดยสารยังลดลง เนื่องจากยังไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากสถานการณ์การเมืองในประเทศ และโลว์คอสต์แข่งขันรุนแรง
เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ได้รับทราบการลาออกจากกรรมการและประธานบอร์ดของ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป พร้อมแต่งตั้งให้นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม รองประธานบอร์ด ทำหน้าที่รักษาการประธานบอร์ดบริษัทตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2557 เป็นต้นไป
โดย พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องลาออกจากบอร์ดการบินไทยเนื่องจากต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ทำให้มีเวลาในการทำหน้าที่บอร์ดและประธานบอร์ดการบินไทยน้อยลง ส่วนลาออกเพื่อเตรียมรับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่นั้นยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทการบินไทยได้แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ประจำปี 2557 บริษัทฯ และบริษัทย่อย ขาดทุนสุทธิ 7,654 ล้านบาท ขาดทุนลดลงจากปีก่อน 772 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 7,662 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.51 บาท เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งขาดทุนต่อหุ้น 3.87 บาท โดยมีจำนวนผู้โดยสารลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนถึง 17.3% มีปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer: ASK) ลดลง 4.9% แต่ปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger - Kilometer: RPK) ลดลงในอัตราที่สูงถึง 14.3% และมีอัตราการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 63.5% ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 70.5% ทำให้รายได้จากการขายและการให้บริการลดลงถึง 4,326 ล้านบาท หรือ 9.2% และมีผลขาดทุนก่อนกำไร และขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้ และผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 4,422 ล้านบาท หรือ 134.9%
ทั้งนี้ เนื่องจากอุตสาหกรรมการบินของไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ไม่ปกติตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2556 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งส่งผลต่อความมั่นใจต่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และมีการพัฒนารูปแบบการให้บริการในลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างสายการบินภายในกลุ่มมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มการให้บริการระยะไกลขึ้น โดยปัจจุบันได้มีการพัฒนาไปสู่ตลาดประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น และจีน ส่งผลให้การแข่งขันด้านราคาทวีความรุนแรงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาสนี้บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 1,008 ล้านบาท ในขณะที่ปีก่อนมีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศสูงถึง 4,202 ล้านบาท และมีผลขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินแอร์บัส A300-600 จำนวน 1,214 ล้านบาทต่ำกว่าปีก่อน 190 ล้านบาท
โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2557 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 300,055 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2556 จำนวน 7,030 ล้านบาท หรือ 2.3% หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยเท่ากับ 253,460 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2556 จำนวน 3,294 ล้านบาท หรือ 1.3% และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 46,595 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2556 จำนวน 10,324 ล้านบาท
ส่วนผลการดำเนินงานด้านการขนส่งประจำเดือนกรกฎาคม 2557 มีอัตราการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) รวมไทยสมายล์แอร์เวย์ เฉลี่ยเท่ากับ 70.2% ต่ำกว่าปีก่อนซึ่งเฉลี่ยเท่ากับ 75.3% การขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ อัตราการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 51.2% สูงกว่าปีก่อนที่เฉลี่ยเท่ากับ 47.4%
โดยการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2557 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจน ตลอดจนภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง โดยมีสถิติการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย ณ สนามบินสุวรรณภูมิของเดือนกรกฎาคม 2557 สูงกว่าเดือนมิถุนายน 2557 แต่ยังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน 19.7% โดยในเดือนกรกฎาคม 2557 บริษัทฯ ได้ปรับลดเที่ยวบินให้สอดคล้องกับความต้องการเดินทางของผู้โดยสารมากขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (Available Seat - Kilometer : ASK) รวมไทยสมายล์แอร์เวย์ ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.4%