xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ดการบินไทยอนุมัติแผนฉุกเฉินแก้วิกฤติลดขาดทุนปี 57

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ดการบินไทย เห็นชอบแผนฟื้นฟูวิกฤติ 2 ระยะ แผนเร่งด่วนหวังฟื้นธุรกิจช่วงครึ่งปีหลัง ดิ้นหารายได้เพิ่ม 3,000 ล. พร้อมรัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายทุกรูปแบบตั้งเป้า 4,000 ล. “ประจิน”ยังเชื่อทั้งปีขาดทุนที่ ระดับ 100ล. คาดไตรมาส3/58 ฟื้นตัว ส่วนผลดำเนินงาน มิ.ย. 57 จำนวนผู้โดยสาร ยังไม่กระเตื้อง Cabin Factor ฉลี่ยแค่ 59.2% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 10%

พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ(บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดการบินไทย วันนี้ (18 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ แผนฟื้นฟูวิกฤตฉุกเฉิน ระหว่างปี 2557-2558 และแผนฟื้นฟูระยะยาว ช่วงตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นไป โดยจะต้องจัดทำรายละเอียดการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 วัน เพื่อนำเสนอต่อการประชุมบอร์ดวาระพิเศษในวันที่ 24 กรกฎาคมนี้

โดยแผนฟื้นฟูวิกฤตฉุกเฉิน จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ประมาณ 3,000 ล้านบาท มีการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นลงประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้งด้านการดำเนินงาน บุคลากร ค่าล่วงเวลา (โอที) และอื่นๆ เพื่อช่วยพยุงสถานการณ์ของบริษัท ที่ปีนี้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปีนี้ คาดว่าจะยังติดลบต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 1 และ 2 โดยคาดว่าทั้งปีจะขาดทุนมากกว่า 100 ล้านบาทตามที่เคยประมารการณ์ ไว้ ซึ่งเชื่อว่าแผนฟื้นฟูฉุกเฉิน จะทำให้ครึ่งหลังปี 2557 จะมีผลขาดทุนน้อยกว่าไตรมาสที่ 1 และ 2

สำหรับ ฟื้นฟูบริษัทนั้น ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 60% โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ปี 2558 การบินไทยจะพ้นจากวิกฤตได้ ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนเร่งด่วนทั้ง 2 ระยะ ได้มอบหมายให้ผู้บริหารของบริษัทฯ ร่วมระดมสมองเพื่อผลักดันจัดทำแผนสร้างรายได้และลดรายจ่ายเป็นการเฉพาะกิจในช่วง 6 เดือนนับจากนี้

ส่วนความคืบหน้าในการสรรหาตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) นั้นจะปิดรับสมัครในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งหากมีผู้สนใจสมัครเข้ารับการสรรหาน้อยราย คณะกรรมการสรรหาฯ สามารถยืดระยะเวลาการรับสมัครออกไปได้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาสรรหาประมาณ 3 เดือน

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด ยังได้รับทราบผลการดำเนินงานด้านการขนส่งประจำเดือนมิถุนายน 2557 ซึ่งสถานการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ถึงแม้เหตุการณ์ทางการเมืองจะคลี่คลาย และประกาศยกเลิกเคอร์ฟิวตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2557 แล้วก็ตาม เนื่องจากหลายประเทศยังเตือนให้พลเมืองระมัดระวังการเดินทางมายังประเทศไทย ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยยังคงลดลงต่อเนื่องโดยลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนถึง 24.37 % โดยปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger – Kilometer: RPK) รวมทั้งระบบ (ไม่รวมเส้นทางบินในประเทศที่บริษัท ไทยสมายล์-แอร์เวย์ส จำกัด ทำการบินภายใต้รหัสการบินใหม่ “WE”) ต่ำกว่าปีก่อน 22.9% ส่งผลให้อัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Cabin Factor) รวมทั้งระบบ เฉลี่ยอยู่ที่ 59.2% ต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีเฉลี่ย 69.2%

ด้านการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ มีปริมาณการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (Revenue Freight Ton-Kilometers: RFTK) เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9% โดยมีอัตราการบรรทุกสินค้า (Freight Load Factor) โดยรวมทั้งใต้ท้องเครื่องบิน (Belly) และเครื่องบินขนส่งสินค้า (Freighter) เฉลี่ย 54.3 % สูงกว่าปีก่อนที่มีเฉลี่ย 50.3 %
กำลังโหลดความคิดเห็น