xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด ร.ฟ.ท.เห็นชอบแผนฟื้นฟู ชงรัฐแก้หนี้เก่า 100% และรับภาระลงทุนใหม่มีกำไรปี 68

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
บอร์ดร.ฟ.ท.เห็นชอบ 4 แนวทางฟื้นฟูกิจการเสนอรัฐรับภาระเบ็ดเสร็จ เซตซีโรล้างหนี้สะสมกว่าแสนล้านในอดีตและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอนาคต พร้อมขอปรับค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง เชื่อหาก คสช.ไฟเขียว ร.ฟ.ท.จะมีกำไรสุทธิในปี 63 ที่ 2.6 พันล้าน

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม มีมติเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท.หลังจากที่ฝ่ายบริหารได้จัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม ทั้งการบริหารจัดการภาระหนี้สิน แนวทางการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย โดยแผนฟื้นฟูมีระยะเวลาดำเนินการ 10 ปี (2557-2567) มี 4 แนวทาง ซึ่งในส่วนของ ร.ฟ.ท.เห็นว่า

แนวทางที่ 4 คือ รัฐรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน รับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอดีต รับภาระขาดทุนสะสม ภาระบำนาญ และมีการปรับค่าโดยสารที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้สินของ ร.ฟ.ท.ทั้งหมดจำนวน 109,317ล้านบาทเป็นศูนย์ โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณด้านโครงสร้างพื้นฐาน การซ่อมบำรุง และการปฏิบัติการ พบว่า ร.ฟ.ท.มีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBIDDA) เป็นบวกที่ 163 ล้านบาทในปีที่ 6 (2562) และจะมีกำไรสุทธิในปี 7 (2563) จำนวน 2,668 ล้านบาทโดยสามารถเจรจามอบที่ดินที่มีมูลค่าให้แก่กระทรวงการคลังเป็นการแลกเปลี่ยน แต่ไม่สามารถให้กระทรวงการคลังใช้ประโยชน์บนที่ดินยาวนานถึง 99 ปี  

สำหรับแนวทางที่ 1 คือ รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรับภาระการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในอดีตทั้งหมด พบว่าจะทำให้ ร.ฟ.ท.มี EBIDDA เป็นบวกที่ 163 ล้านบาทในปีที่ 6 (2562) แต่ยังไม่มีกำไรสุทธิในระยะ 10 ปีของแผนฟื้นฟู

แนวทางที่ 2 คือ รัฐรับภาระตามแนวทางที่ 1 บวกกับรับภาระการขาดทุนสะสมจากการดำเนินงาน ภาระบำนาญ พบว่า EBIDDA เป็นบวกที่ 163 ล้านบาทในปีที่ 6 (2562) และในระยะ 10 ปีของแผนฟื้นฟูจะยังขาดทุนสุทธิที่ 2,400 ล้านบาท

และแนวทางที่ 3 คือ รัฐรับภาระตามแนวทางที่ 1 และ 2 โดยให้ปรับค่าโดยสารให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่ง EBIDDA จะเป็นบวกที่ 163 ล้านบาทในปีที่ 6 (2562) และในระยะ 10 ปีของแผนฟื้นฟูจะยังไม่มีกำไรสุทธิและไม่ขาดทุนสุทธิเช่นกัน 

โดยหลักการจะนำเสนอแผนฟื้นฟูโดยมี 4 แนวทาง พร้อมรายละเอียดประกอบ ซึ่งบอร์ดเห็นว่าแนวทางที่ 4 ดีที่สุด คือ ลบหนี้เซตซีโร โดยจะเร่งเสนอไปที่กระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณาและหารือกับกระทรวงการคลังและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ก่อนจะนำส่งไปยังคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานต่อไป ซึ่งขณะนี้ทาง คสช.ให้ความสำคัญต่อระบบรางอย่างมาก เชื่อว่าจะเป็นแผนฟื้นฟูที่มีความเป็นไปได้

“แนวทางฟื้นฟู ร.ฟ.ท.ที่นำเสนอ จะเป็นธรรมกับ ร.ฟ.ท.มากกว่าปัจจุบันที่ ร.ฟ.ท.ต้องรับภาระหลายอย่างโดยได้รับการชดเชยจากรัฐบาลต่ำกว่าความเป็นจริง เช่น โครงการรถไฟฟรี ร.ฟ.ท.ได้รับเงินชดเชยเพียง 50% เท่านั้น หรือการลงทุนรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่การรถไฟฯ ต้องเป็นผู้กู้ และรับภาระดอกเบี้ย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะลดการพึ่งพาจากภาครัฐด้วยการตั้งกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Fund) การให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนบนที่ดินของ ร.ฟ.ท.โดยกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของ ร.ฟ.ท.อยู่” นายออมสินกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น