xs
xsm
sm
md
lg

ร.ฟ.ท.เสนอโรดแมป 3 ระยะฟื้นฟูองค์กร ชงบอร์ดอนุมัติถอนฎีกาคดีสาวปริญญาโท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ร.ฟ.ท.ชงบอร์ดพิจารณาแผนฟื้นฟู 25 ก.ค.เสนอโรดแมป 3 ระยะ แก้หนี้แสนล้าน เพิ่มรายได้จากที่ดิน ยกเครื่องบริการ พร้อมขออนุมัติถอนฎีกาคดีสาวปริญญาโทเมื่อ 13 ปีก่อน เพื่อเดินหน้าจ่ายเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายตามคำสั่งศาล

นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการด้านยุทธศาสตร์และอำนวยการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้จะเสนอแผนฟื้นฟูรถไฟต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ที่มีนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ เป็นประธาน โดยมีโรดแมป 3 ระยะ คือ ระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว โดยเบื้องต้นจะเน้นที่ระยะสั้นและระยะกลางก่อน คือ การแก้ปัญหาหนี้สินประมาณ 100,000 ล้านบาทและการปรับมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งในช่วง 6 ปีต่อจากนี้ ร.ฟ.ท.จะมีหัวรถจักร รถโดยสารและแคร่รถสินค้าใหม่เข้ามา จะมีวิธีการบริหารอย่างไรเพื่อสร้างภาพลักษณ์ในการให้บริการที่สอดคล้องกัน และการบริหารต้นทุนโดยแยกเรื่องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้นทุนด้านการเดินรถ และต้นทุนด้านพนักงานออกจากกัน

ทั้งนี้ ปัญหาของรถไฟมี 2 ส่วนหลัก คือ ปัญหาหนี้สิน และการปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพ โดยในส่วนของภาระหนี้สินจะต้องมีการหารือกับกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม เพื่อหาทางแก้ปัญหาหนี้สินในส่วนที่รัฐต้องรับภาระแต่ใส่รวมไว้ที่บัญชีรถไฟ ซึ่งมีประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนในโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ส่วนที่เป็นหนี้ที่เกิดจากการได้รับเงินสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐล่าช้า และดอกเบี้ยต่างๆ เป็นต้น

ส่วนการหารายได้จากทรัพย์สิน มีแผนในการเพิ่มรายได้จากที่ดินรถไฟที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งจะมีการแก้ปัญหาเรื่องผู้บุกรุก ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนงานในการก่อสร้างโครงการต่างๆ ที่จะต้องเตรียมพื้นที่ก่อสร้างให้พร้อม และจะต้องแก้ปัญหารายได้รั่วไหลจากสัญญาเช่าที่ดินด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างรายได้ให้รถไฟสามารถเลี้ยงตัวเองได้

ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1 กล่าวว่า จะเสนอขอความเห็นชอบที่ประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.ในการถอนฎีกาขอทุเลาคดี กรณีสาวปริญญาโทที่ถูกลูกจ้างชั่วคราว ร.ฟ.ท.ข่มขืนกระทำชำเราบนขบวนรถไฟตู้นอนรถไฟสายใต้ เมื่อปี 2544 เพื่อให้ ร.ฟ.ท.สามารถเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายให้ผู้เสียหายได้ โดยคดีนี้ ร.ฟ.ท.ได้ไล่ผู้กระทำผิดออกจากงานและศาลอาญาได้ตัดสินจำคุกจำเลยเป็นเวลา 9 ปี ส่วนในคดีแพ่ง ศาลชั้นต้น และศาลอุธรณ์ได้ตัดสินให้ ร.ฟ.ท. และจำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดให้แก่โจทก์ แต่ ร.ฟ.ทได้ยื่นฎีกาขอทุเลาคดี และทำให้ไม่สามารถเยียวยาผู้เสียหายได้ เบื้องต้นเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น