บอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่นัดประชุม 16 ก.ค.นี้ หารือตั้งรักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.แทน “ประภัสร์” หลังมีคำสั่ง คสช.ให้พ้นตำแหน่ง “ออมสิน” เผยเลือกจากรองผู้ว่าฯ พร้อมเร่งหาทางแก้ปัญหาความปลอดภัยในการใช้บริการ และเร่งเยียวยาสาวปริญญาโท ด้าน “ภากรณ์” คาด 2-3 สัปดาห์สรุปผลสอบข้อเท็จจริงกระบวนการรับลูกจ้างและหาข้อบกพร่องการทำงานบนขบวนรถจนเกิดเหตุสลด ยันโทษหนักเพราะมีผู้เสียชีวิตและทำให้ภาพลักษณ์องค์กรเสียหาย
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.ที่ได้รับแต่งตั้งชุดใหม่ในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ เรื่องเร่งด่วนที่จะมีการหารือคือ แต่งตั้งรักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. โดยพิจารณาจากรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.คนใดคนหนึ่งขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่แทนนายประภัสร์ จงสงวน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้พ้นจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนี้จะหารือถึงกรณีการให้บริการและความปลอดภัยซี่งเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมากที่สุดในขณะนี้
รายงานข่าวแจ้งว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.มีรองผู้ว่าฯ 4 คน ประกอบด้วย นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าฯ กลุ่มยุทธศาสตร์และอำนวยการ ซึ่งเคยทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ช่วงที่สรรหาก่อนที่นายประภัสร์จะได้รับการคัดเลือก และถือว่าน่าจะมีความเหมาะสมที่สุด, นายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 1 จะเกษียณอายุในเดือนกันยายนนี้, นายกมล ตั้งกิจเจริญชัย รองผู้ว่าฯ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน 2 เคยลงรับสมัครสรรหาเป็นผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.ครั้งเดียวกับนายประภัสร์, นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รองผู้ว่าฯ หัวหน้าหน่วยธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน และนายเทอดชัย เพ่งไพฑูรย์ รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.หน่วยธุรกิจการเดินรถ
ทั้งนี้ นายออมสินต้องการเร่งประชุมบอร์ด ร.ฟ.ท.ชุดใหม่เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วนคือเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังต้องการให้เร่งเยียวยาสาวปริญญาโท ที่เป็นผู้เสียหายถูกพนักงาน ร.ฟ.ท.ข่มขืนบนรถไฟเมื่อปี 2544 หรือ 13 ปีก่อนด้วย โดยหลังจากที่เกิดเหตุกับเด็กหญิงอายุ 13 ปีบนรถไฟสายใต้ สาวปริญญาโทได้ทำจดหมายเปิดผนึกจากกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ ถึงหัวหน้า คสช.เพื่อตอกย้ำถึงความรับชอบของ ร.ฟ.ท.ในกรณีของตัวเอง เนื่องจากศาลได้ตัดสินให้ ร.ฟ.ท.ชดใช้ค่าเสียหายแต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้รับเนื่องจาก ร.ฟ.ท.ยื่นฎีกาขอทุเลาคดี
ด้านนายภากรณ์ ตั้งเจตสกาว รองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงกรณีเหตุทำร้ายเด็กหญิงอายุ 13 ปีจนเสียชีวิต และกระบวนการสอบบรรจุลูกจ้างประจำของ ร.ฟ.ท.จำนวน 90 คน ที่มีผู้ต้องหาอยู่ด้วยว่ามีจุดบกพร่องตรงไหน มีใครเกี่ยวข้องบ้าง ซึ่งเบื้องต้นกระบวนการรับลูกจ้างประจำนั้นจะคัดเลือกโดยวิธีการสอบสัมภาษณ์ต้องตรวจสอบระเบียบการรถไฟฯ ก่อนว่าเป็นอย่างไร ซึ่งระเบียบข้อบังคับในเรื่องบรรจุบุคลากรนั้นมีมากว่า 100 ปี และเขียนไว้อย่างรอบคอบรัดกุมอยู่แล้ว ประเด็นคือ ได้มีการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดหรือไม่ ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องถูกตรวจสอบทั้งหมด โดยจะเรียกคณะกรรมการสอบคัดเลือกครั้งนี้มาชี้แจง คาดว่าจะได้ข้อสรุปใน 2-3 สัปดาห์
นอกจากนี้จะต้องสอบข้อเท็จจริงการทำงานบนขบวนรถที่เกิดเหตุ สุราษฎร์ธานี-กรุงเทพฯ ในวันที่เกิดเหตุด้วย ว่ามีบกพร่องตรงจุดใดและใครต้องรับผิดชอบบ้าง เนื่องจากมีการปล่อยให้พนักงาน ลูกจ้างทั้งของ ร.ฟ.ท.เองและของบริษัทเอกชน(outsource) ดื่มเบียร์กันขณะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร โดยตามหลักบนขบวนรถจะมีพนักงานรักษารถ (พรร.) รับผิดชอบดูแลควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่ทุกคน โดยขบวนดังกล่าวมี พรร. 1 คน และผู้ช่วยอีก 1 คน
“เหตุที่การสอบข้อเท็จจริงอาจจะต้องใช้เวลา เพราะเมื่อเรียกผู้เกี่ยวข้องมาชี้แจงนั้น ผู้นั้นมีสิทธิ์ที่จะจัดหาทนายได้ และสามารถเลื่อนนัดได้ เป็นต้น ส่วนการลงโทษนั้นมีตั้งแต่ ตักเตือน ตัดเงินเดือน ลดขั้น พักงาน ปลดออก ไล่ออก ขึ้นกับความผิด ซึ่งต้องรอหลังการสอบสวนว่าผู้ที่เกี่ยวข้องแต่ละคนมีระดับความผิดแค่ไหน กรณีประมาทแม้จะมีโทษไม่สูงแต่เหตุครั้งนี้มีความเสียหายถึงแก่ชีวิตผู้โดยสารและกระทบภาพลักษณ์ขององค์กรอย่างมาก โทษก็จะหนักตามไปด้วย” นายภากรณ์กล่าว