บอร์ดการบินไทยนัดพิเศษอนุมัติแผนฟื้นฟูบริษัท เตรียมสรุปเสนอคมนาคมใน 28 ก.ค.นี้ ก่อนไปส่ง สคร.และ คสช.พิจารณา ยกระดับบริการเป็นซูเปอร์พรีเมียมเจาะลูกค้าระดับบน “ประจิน” สั่งศึกษาย้ายไทยสมายล์มาดอนเมือง หวังผนึกกำลังกับนกแอร์แข่งขัน ตั้งเป้าแผนฟื้นฟูลดค่าใช้จ่าย 4 พันล้าน เพิ่มรายได้ 3-5 พันล้าน เปิดโครงการเออร์รีฯ ลดพนักงาน ตั้งเป้ามีกำไรปี 60 กลับมาเป็นสายการบินอันดับ 1
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยหลังประชุมบอร์ดวาระพิเศษ วันนี้ (24 ก.ค.) ว่า ที่ประชุมได้อนุมัติแผนฟื้นฟูการบินไทยแล้ว โดยให้สรุปเพื่อนำเสนอตามขั้นตอน ส่วนโครงการให้พนักงานเกษียณก่อนอายุการทำงาน หรือเออร์รีรีไทร์ นั้นบอร์ดเห็นชอบในหลักการ โดยให้ฝ่ายบริหารไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมและนำเสนอในการประชุมบอร์ดคราวหน้า
พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ กรรมการในฐานะรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย กล่าวว่า ภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2557 จะเสนอแผนฟื้นฟูไปกระทรวงคมนาคมได้ จากนั้นตามขั้นตอนจะต้องเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนจะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเพื่อพิจารณา นอกจากนี้ พล.อ.อ.ประจินยังมีแนวคิดที่จะย้ายการให้บริการของการบินไทยสมายล์ จากท่าอากาศยานมาที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เนื่องจากเห็นว่าผู้โดยสารจะได้รับความสะดวกมากกว่า และจะทำให้เพิ่มความถี่ของเที่ยวบินได้มากกว่าที่สุวรรณภูมิ โดยให้ฝ่ายบริหารศึกษารายละเอียดและจัดทำแผน โดยจะต้องดูในเรื่องการต่อเชื่อมเที่ยวบินกับการบินไทย ตารางการบินที่เหมาะสมที่จะสนับสนุนกับสายการบินนกแอร์ที่ให้บริการที่ดอนเมืองอยู่แล้ว และนำเสนอต่อที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 14 สิงหาคม
“การย้ายไทยสมายล์มาดอนเมืองเพิ่งพูดกันวันนี้ เป็นแนวคิดของประธานบอร์ด เพราะเห็นว่าผู้โดยสารจะเดินทางมาใช้บริการสะดวกกว่า ส่วนการต่อเชื่อมเที่ยวบินกับการบินไทยจะทำให้มีต้นทุนเพิ่มหรือไม่ต้องไปศึกษาข้อมูลมา หลักๆ สายการบินที่ให้บริการที่ดอนเมืองจะลดราคาแข่งขันราคากันอยู่แล้ว ซึ่งผู้โดยสารจะตัดสินใจแต่ไทยสมายล์จะโดดเด่นกว่าในเรื่องราคาที่แน่นอน โดยมีบริการที่ครบถ้วนไม่คิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทั้งโหลดกระเป๋า บริการอาหารบนเครื่อง ที่นั่งสบาย โดยจะต้องไม่บินทับกับนกแอร์” พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์กล่าว
โดยแผนฟื้นฟูการบินไทยนั้นจะเริ่มที่การลดต้นทุนลดค่าใช้จ่ายก่อน โดยมีเป้าหมายที่ 4,000 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2558 หลักๆ คือลดค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) ค่าใช้จ่ายด้านพนักงานที่มีประมาณ 26,000 คนลง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการเออร์รีรีไทร์ กำลังพิจารณาหามาตรการในการจูงใจ โดยจะเน้นพนักงานที่ป่วย หรือพนักงานที่ไม่มีงานประจำชัดเจนเป็นกลุ่มแรกที่จะเชิญมาเจรจา ส่วนแผนเดิมมีพนักงานประมาณ 900 คนที่สมัครใจเออร์รีรีไทร์ไว้ก่อนแล้ว แผนการชดเชยที่วางไว้คือ หากไม่รับค่ารักษาพยาบาลจะได้รับชดเชย 30 เท่าของเงินเดือน หากรับค่ารักษาพยาบาลจะได้ 20 เท่าของเงินเดือน เป็นต้น และพิจารณาเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารน้อย มีรายได้น้อย อาจจะต้องปรับลดความถี่ลง แต่ยังไม่ยกเลิกและเพิ่ม
ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มรายได้ที่ระดับ 3,000-5,000 ล้านบาท โดยจะปรับบริการจากพรีเมียม ขึ้นเป็นซูเปอร์พรีเมียมเพื่อให้การบริการดีขึ้น โดยจะอบรมพนักงานเพื่อปรับการให้บริการดูแลผู้โดยสารชั้นเฟิสต์คลาส เช่น ประสานในเรื่องอาหาร และเครื่องดื่มที่ต้องการล่วงหน้าก่อนขึ้นเครื่อง จากเดิมที่มีบริการแต่ไม่เน้นมากนัก จากนั้นจะขยายไปที่ชั้นธุรกิจและชั้นประหยัดต่อไป นอกจากนี้ จะมุ่งเน้นขายตั๋วในโซนใต้กรุงเทพฯ ลงไปเพื่อดึงผู้โดยสารมาเลเซีย สิงคโปร์ ให้มาต่อเครื่องของการบินไทยที่กรุงเทพฯ เพิ่มแคมเปญจูงใจ เช่น ประสานกับบริษัทคิงเพาเวอร์ เพื่อให้ผู้โดยสารของการบินไทยสามารถได้ส่วนลด 10% ในการซื้อสินค้าดิวตี้ฟรีโดยไม่ต้องมีบัตรสมาชิกของคิงเพาเวอร์ เจรจากับทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เพื่อขอพื้นที่ในการทำห้องรับรอง (เลานจ์) ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเพิ่ม
“เป้าหมายของแผนฟื้นฟูการบินไทยคือ ต้องกลับมาเป็นที่ 1 ให้ได้ โดยจะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี บริษัทจะค่อยๆ ดีขึ้นในปี 58-59 และจะมีกำไรในปี 60 จึงต้องดูว่า ทำไมยอดขายไม่ดีขึ้น ทำไมไม่ขึ้นการบินไทย ซึ่งปัญหาคือมีการเปิดน่านฟ้าเสรี คู่แข่งราคาถูก ผู้โดยสารมีทางเลือกมาก การบินไทยมีบริการดีแล้ว ส่วนราคายอมรับว่ายังสูงกว่าคู่แข่ง ก็ต้องปรับลดลงให้ใกล้เคียงเพื่อให้ผู้โดยสารเลือกได้ง่ายขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้เปิดขายตั๋วทางอินเทอร์เน็ตเพิ่ม เปิดแคมเปญใหม่ๆ และกำลังปรับปรุง Call Center และศึกษาปรับเส้นทางการบินใหม่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด เน้นเส้นทางในภูมิภาคอินโดจีน เช่น จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น”
อย่างไรก็ตาม บอร์ดได้มีมติแต่งตั้งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ 5 คน ให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นทีมที่ปรึกษารักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) โดยมีหน้าที่หลักคือ ผลักดันการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนฟื้นฟู ประกอบด้วย นายโชคชัย ปัญญายงค์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน นายปานฑิต ชนะภัย รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่หน่วยธุรกิจบริการการบิน นายธีรพล โชติชนาภิบาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการพาณิชย์ นายนิรุฒ มณีพันธ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายพัฒนาทรัพยากรบุคคลและกำกับกิจกรรมองค์กร และนายดนุช บุนนาค รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายรายได้เสริมองค์กร
ส่วนหน้าที่ในตำแหน่งรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ที่ทั้ง 5 คนดูแลนั้น เบื้องต้นได้มอบให้ผู้อำนวยการใหญ่ของแต่ละสายงานเป็นผู้รับผิดชอบ