xs
xsm
sm
md
lg

บพ.เผย 2 ปัจจัยฉุดเที่ยวบินและผู้โดยสารลด เชื่อสัญญาณดี High Season ฟื้นไม่ยาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บพ.เผยทั้งกฎอัยการศึกและ Low Season ปัจจัยลบฉุดเที่ยวบินและผู้โดยสารลดต่อเนื่อง โดยเฉพาะญี่ปุ่นหาย 50% ส่วนเช่าเหมาลำรายเล็กปรับตัวหมุนเครื่องบินไปหารายได้ทางอื่นชั่วคราวรอ High Season มั่นใจฟื้นไม่ยาก ชี้ยังมีสัญญาณดี เหตุ ต.ค. 56-พ.ค. 57 แห่ขออนุญาตบิน 31 สาย “วรเดช” เผย ก.ย.นี้สรุปผลศึกษาจ้างบริหาร 28 สนามบิน คาดประมูลในปี 58 เปิดกว้าง ทอท.-การบินไทย-บางกอกแอร์ฯ ยื่นข้อเสนอแข่งขันได้เต็มที่

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมปริมาณการจราจรทางอากาศเข้าออกประเทศไทยมีการปรับตัวลดลงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ที่มีการชุมนุมทางการเมืองและหลังประกาศกฎอัยการศึกในเดือนพฤษภาคม 2557 ปรับลดลงอีกเล็กน้อยแต่ไม่เป็นนัยสำคัญ เพราะเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season) ด้วย จึงกลายเป็นสองปัจจัยลบ โดยในส่วนของเที่ยวบินประจำมีขอยกเลิกบ้างในบางเที่ยวบินที่มีผู้โดยสารน้อย ภาพรวมลดลงประมาณ 5% ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ปกติของเที่ยวบินประจำที่จะขอยกเลิกบินเพราะมักขอทำการบินเต็มที่แต่ถึงเวลาไม่มีผู้โดยสารจึงค่อยยกเลิก ส่วนจำนวนผู้โดยสารปรับลดลงประมาณ 10-15% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นที่ลดลงเกือบ 50% เพราะมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์มากกว่าชาติอื่น

ส่วนเที่ยวบินเช่าหมาลำ (Charter Flight) นักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นตลาดหลักที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก สาเหตุหลักเพราะจีนไม่ค่อยกังวลต่อสถานการณ์การเมืองของไทย โดยในช่วง Low Season จะมีผู้ประกอบการเช่าเหมาลำรายเล็กๆ ที่อาจจะมีผู้โดยสารลดลง จึงขออนุญาต บพ.นำเครื่องบินหมุนเวียนไปใช้ในรูปแบบอื่นชั่วคราว เช่น เจทเอเชีย มีเครื่องบิน 4 ลำ ได้ขอนำ 2 ลำไปให้เช่าในช่วง 3-4 เดือนนี้ และจะกลับมาบินเช่าเหมาลำให้บริการอีกครั้งในช่วง High Season เป็นต้น

“ตอนนี้คงยังระบุไม่ได้แน่ชัดว่าผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหนเนื่องจากเพิ่งเริ่มต้น และต้องประเมินในช่วง High Season ด้วยว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินและผู้โดยสารเป็นอย่างไรหากไม่เพิ่มขึ้นก็ถือว่าผลกระทบรุนแรง แต่เชื่อว่าสถานการณ์มีแนวโน้มจะดีขึ้น โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556-พฤษภาคม 2557 มีสายการบินใหม่ขอเปิดบินและสายการบินเก่าขอต่อใบอนุญาตมากถึง 31 สายการบิน ส่วนใหญ่เป็นการบินตรงสู่ประเทศจีน แสดงให้เห็นว่าแม้ประเทศไทยจะมีปัญหาการเมือง แต่ก็ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจุดดึงดูดสูงมาก จึงไม่ยากต่อการฟื้นตัว” นายวรเดชกล่าว

ส่วนความคืบหน้าแนวทางบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคทั้ง 28 แห่งของ บพ.นั้น บริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด จะสรุปผลศึกษาภายในเดือนกันยายนนี้ และเปิดประกวดราคาได้ในปี 2558 โดยจะศึกษาความเหมาะสมและศักยภาพของแต่ละแห่งใน 2 รูปแบบหลัก คือ ให้บริการด้านผู้โดยสาร และบริการด้านสินค้า ซึ่งบางแห่งอาจเป็นศูนย์รวมและกระจายสินค้าได้ (Logistics Park) เช่น สนามบินโคราช, สนามบินชุมพรเพราะอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ และมีระบบถนนเข้าออกสะดวก

นายวรเดชกล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รวมถึงบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส แสดงความสนใจที่จะบริหารสนามบินภูมิภาคของ บพ. โดยเฉพาะท่าอากาศยานที่ปัจจุบันมีผู้โดยสารมากกว่า 1 ล้านคนต่อปี เช่น กระบี่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ขอนแก่น อุบลราชธานี อุดรธานี ซึ่งหลังสรุปผลศึกษาจะทราบมูลค่าทรัพย์สินที่ บพ.ได้มีการลงทุนไปในแต่ละสนามบิน เพื่อนำมากำหนดเป็นผลตอบแทนที่เหมาะสม โดยการประมูลคัดเลือกผู้รับจ้างบริหารสนามบินของ บพ.เชิงพาณิชย์นั้นจะเปิดกว้าง เลือกรายที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด

“ทอท.จะไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ และไม่สามารถโอนสนามบินไปให้ได้เพราะถือว่าสนามบินภูมิภาค 28 แห่งของของรัฐ ขณะที่ตอนนี้ ทอท.เป็นบริษัทมหาชนไปแล้ว โดยหลักการ บพ.จะกำกับดูแลด้านความปลอดภัยทางการบิน และว่าจ้างบริหารในเชิงพาณิชย์ เช่น เช็กอิน ร้านค้า ร้านอาหาร ดิวตี้ฟรี ระบบสายพานลำเลียงกระเป๋า บริการภาคพื้น โดยหลังสรุปผลศึกษาจะเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาก่อน” นายวรเดชกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น