xs
xsm
sm
md
lg

สนามบินไทยพร้อมรับเปิดเออีซี ปมการเมืองวุ่นเรื่องเดียวทำ “ฮับภูมิภาค” หลุดมือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การชุมนุมทางการเมืองขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” แม้จะไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรงเท่ากับเมื่อปี 2553 แต่ก็มีการปะทะกันจนมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ประกอบกับมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่หลายประเทศประกาศเตือนพลเมืองของตนเองในการเดินทางมาประเทศไทย

นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) กล่าวว่า จำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารลดลงบ้างในช่วงแรกของการชุมนุม แต่ขณะนี้เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ดูจากการขออนุมัติของเที่ยวบินเช่าเหมาลำที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น และหากหลังจากนี้ไม่มีเหตุการณ์รุนแรงจะยิ่งคลายความกังวล และเชื่อมั่นว่าการเติบโตของเที่ยวบินและผู้โดยสารจะเพิ่มสูงกว่าปี 2556 แน่นอน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มที่วิตกกังวลสถานการณ์ก็จะเลี่ยงกรุงเทพฯ ไปเที่ยวตามต่างจังหวัดของไทยแทน และปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อุตสาหกรรมการบินของไทยไม่ค่อยได้รับผลกระทบคือ ภูมิศาสตร์ที่ตั้งของไทย, ความแข็งแกร่งของแหล่งท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากเกินไป

ส่วนการเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่การเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ด้านการขนส่งทางอากาศนั้น ในส่วนของไทยมีการเปิดเสรีการบิน (Open Sky) ไว้ค่อนข้างครอบคลุมไปถึงเสรีภาพที่ 3, 4, 5 แล้ว เหลือเพียงการเปิดเสรีเรื่องศูนย์ซ่อมอากาศยานที่อยู่ระหว่างแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้ต่างชาติสามารถถือหุ้นได้มากกว่า 49% เรื่องรอเสนอสภาเท่านั้น

ซึ่งข้อตกลงด้านการบินนั้น 10 ประเทศเปิดเสรี แต่ธรรมชาติของการเจรจาด้านการบินจะเป็นเรื่องต่างตอบแทน ที่คู่เจรจาสองฝ่ายจะขอเพิ่มเส้นทางหรือเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกัน อยู่ที่ความพอใจของสองฝ่าย ซึ่งหลายประเทศจะมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่จะรักษาผลประโยชน์ของตนเองต่างกันไป เช่น ลาว อินโดนีเซีย จะให้สายการบินของตนเองบินเป็นหลัก หากจะอนุญาตให้สายการบินไทยหรือบางกอกแอร์เวย์สเข้าไปบินมักจะได้ช่วงเวลาที่ไม่ค่อยดี เป็นต้น เทียบกับไทยจะค่อนข้างเปิดกว้าง เปิดเสรีจริงๆ เพราะต้องการให้คนเข้ามามากๆ

การเปิดเออีซีจะส่งผลดีต่อการขนส่งทางอากาศของไทยแน่นอน ด้วยความพร้อมของสนามบินและศักยภาพการให้บริการ โดยสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งเป็นสนามบินหลักแม้จะยังไม่มีรันเวย์ที่ 3 แต่หากสร้างเทอร์มินอลเพิ่มแยกผู้โดยสารภายในประเทศออกจากเทอร์มินอลหลักจะทำให้เพิ่มขีดความสามารถการรองรับผู้โดยสารขึ้นอีก รวมถึงสนามบินดอนเมืองที่จะเปิดเทอร์มินอล 2 ในปีนี้

เทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ลาว สนามบินที่เวียงจันทน์ยังไม่เสร็จ ส่วนสนามบินหลวงพระบางเทอร์มินอลใหม่เพิ่งเสร็จ อินโดนีเซียยิ่งหนักกว่าเพราะขยายสนามบินไม่ได้แล้ว ตามแผนจะสร้างใหม่ในอีก 5 ปี โดยตอนนี้แก้ปัญหาด้วยการย้ายสายการบินโลว์คอสต์ไปใช้สนามบินทหารซึ่งเข้มงวดเรื่องความปลอดภัย จึงมีปัญหาไม่ค่อยสะดวกมากนัก

ด้านกฎหมายการเดินอากาศของไทย ต้องเพิ่มในเรื่องการสร้างความปลอดภัยให้มากขึ้น ซึ่ง บพ.ต้องกำกับดูแลสนามบินให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน และหลายเรื่องต้องขออนุมัติจากคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) หรือผ่านการพิจารณาของสภา ซึ่งทำให้การอนุมัติล่าช้าไปบ้างไม่ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ส่วนสนามบินภูมิภาคของ บพ.จำนวน 28 แห่ง มีสายการบินให้บริการจำนวน 26 แห่ง ที่เหลือ 2 แห่งไม่ได้หมายความว่าเป็นสนามบินร้าง ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าสนามบินไม่เหมือนสถานีขนส่งรถ บขส. หรือสถานีรถไฟ ที่ใครจะเข้าไปตั้งร้านค้าได้ง่ายๆ เพราะกฎหมายบังคับให้กิจกรรมในสนามบินต้องเกี่ยวข้องกับการบินเท่านั้น โดยบริการของสนามบินเมื่อคนลงจากเครื่องบินก็จะรีบออกไป เป็นการหมุนเวียนที่รวดเร็ว เนื่องจากมีเรื่องความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้องอีกชั้นหนึ่งด้วย ซึ่งการมีสายการบินโลว์คอสต์ช่วยให้สนามบินของ บพ.คึกคักมากขึ้น

“ธรรมชาติของสนามบินขนาดเล็กทุกแห่งทั่วโลกเป็นเหมือนกัน เงียบๆ หมุนเวียนเร็ว จะเอาคนเข้าไปอยู่ภายในนานๆ ในขณะที่ไม่มีเที่ยวบินแล้วไม่ได้เพราะมีเรื่องความปลอดภัย ซึ่งจะต่างจากสนามบินของ ทอท.ที่มีเที่ยวบินตลอดเวลา เพราะเป็นบริการเชิงพาณิชย์ มีผู้โดยสารมาก มีเครื่องบินขึ้นลงวันละ 800-900 เที่ยวบิน ส่วนสนามบิน บพ.บางแห่งมีวันละ 2-3 เที่ยวบินก็ถือว่าดีแล้ว ที่สำคัญหลักของสนามบินภูมิภาคของ บพ.คือเป็นบริการสาธารณะ (PSO) เป็นทางเลือกในการให้บริการผู้โดยสารในการเดิยทางที่มีความรวดเร็ว โดยรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน”

ขณะที่แนวทางการให้เอกชนหรือ ทอท.เข้ามาบริหารสนามบินภูมิภาคยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งประเด็นที่ต้องพิจารณาคือเรื่องต้นทุนจริงของการดำเนินงาน ส่วนใหญ่อยากได้สนามบินกระบี่เพราะเห็นว่ามีกำไร แต่ลืมไปว่ามีเรื่องที่รัฐให้งบลงทุนปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกจำนวนมาก คงต้องเข้ามาลงทุนจริงๆ ก่อนจึงจะทราบว่าจะมีกำไรจริงหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายจะต้องไปเรียกเก็บค่าบริการ ค่าธรรมเนียมการบิน ค่าเช่าจากผู้ประกอบการสูงๆ เพื่อชดเชยต้นทุนและให้มีกำไรตามที่ตั้งไว้

บพ.มีรายได้จากค่าธรรมเนียมขึ้นลงอากาศยาน แต่ต้องจัดส่งเข้าคลังทั้ง 100% จะเหลือรายได้จากค่า PSC ที่เรียกเก็บจากผู้โดยสารในประเทศคนละ 50 บาททระหว่างประเทศคนละ 400 บาท ก็จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของลูกจ้างชั่วคราวต่างๆ ทำให้ภาพรวมขาดทุน

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติบโตของสายการบินโลว์คอสต์ที่เพิ่มมากขึ้นแม้จะเป็นตัวกระตุ้นให้สนามบินภูมิภาคมีความคึกคักขึ้นมา ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญต่อประเด็นคุณภาพในการให้บริการด้วย โดย บพ.ได้ออกกฎระเบียบในการคุ้มครองผู้โดยสารกรณีที่ได้รับบริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานไว้อย่างครอบคลุม แต่ต้องยอมรับว่าการดำเนินการจะต้องมีการร้องเรียนเข้ามา ซึ่งต้องประชาส้มพันธ์ให้ผู้โดยสารทราบและเข้าใจมากขึ้นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น