xs
xsm
sm
md
lg

“ชัชชาติ” ดันไทยฮับการบิน จี้หน่วยงานตั้งเป้าตัวชี้วัด ลดเวลาต่อเครื่องสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

   นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ชัชชาติ” ชี้ไทยจะเป็นฮับการบินในภูมิภาคได้จะต้องปรับปรุงการบริการและลดเวลาต่อเครื่องให้เหลือ 45 นาทีจากปัจจุบัน 90 นาทีให้ได้ก่อน จี้หน่วยงานการบินกำหนดเป้าหมายตัวชี้วัด และร่วมมือพัฒนาในทิศทางเดียวกัน เผยคนนิยมใช้เครื่องบินเพิ่มขึ้นช่วงสงกรานต์สูงกว่ารถ บขส.ถึง 6 เท่า ด้าน บพ.ระบุไทยเป็นฮับแล้วเพราะผู้โดยสารมากสนามบินมีทั่วประเทศแต่พัฒนาไม่ทันความต้องการ  

วันนี้ (25 เม.ย.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย (บวท.) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานการบินภายใต้หัวข้อ “We still have a dream” หรือ “เรายังมีฝันร่วมกัน” เพื่อกระตุ้นและผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมและขนส่งทางอากาศและอุตสาหกรรมการบินของภูมิภาค โดยใช้แนวคิด “Synergy” หรือการทำงานในทิศทางเดียวกันของทุกภาคส่วนเพื่อเป้าหมายเดียวกัน โดยมีการเสวนาหัวข้อ “How to make a dream come true” โดยผู้บริหารของหน่วยงานทางอากาศ เช่น นายวรเดช หาญประเสริฐ อธิบดีกรมการบินพลเรือน (บพ.) พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ น.อ.จิรพล เกื้อด้วง ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. น.ต.ประจักษ์ สัจจโสภณ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บวท. 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมว่า การที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางการบิน (ฮับ) ภูมิภาคได้หรือไม่จะต้องกำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้ชัดเจนกว่านี้ เพราะทางสิงคโปร์ประกาศเป็นฮับโดยดึงสายการบินใหญ่ๆ ไปใช้ฐานบินไปยุโรป ซึ่งในแง่ภูมิศาสตร์ของไทยจะเน้นเป็นฮับในเรื่องการเชื่อมต่อเครื่องที่ใช้เวลาน้อยจากปัจจุบันที่ใช้เวลาเฉลี่ย 90 นาทีเป็น 45 นาทีได้ก็จะเป็นโอกาสที่ดี ซึ่งทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้มีการก่อสร้างอาคารปฏิบัติการและระบบลำเลียงกระเป๋าสัมภาระเปลี่ยนเที่ยวบิน มูลค่า 1,700 ล้านบาท ช่วยเพิ่มศักยภาพในการให้บริการผู้โดยสารที่เปลี่ยนเที่ยวบินเหลือที่ 60 นาทีในระยะแรก ถือเป็นก้าวหนึ่งในการเป็นฮับ นอกจากนี้จะต้องไปลดคอขวดทางห้วงอากาศและเพิ่มขีดการรองรับของท่าอากาศยานเพื่อให้รับเที่ยวบินได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ การเติบโตทางอากาศเพิ่มสูงมาก เห็นได้จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมามีการเดินทางโดยรถไฟเพียง 9,000 คน ใช้รถ บขส.18,000 คน ส่วนเครื่องบินมีถึง 120,000 คนต่อวันสูงกว่าถึง 6 เท่า โดยท่าอากาศยานดอนเมืองมีผู้โดยสารภายในประเทศเกือบ 50,000 คนต่อวัน เพิ่มขึ้น 35% เพราะใช้เวลาน้อยกว่า และราคาถูกลงมาก และแนวโน้มในปี 2040 การเดินทางด้วยเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะมีส่วนแบ่งการตลาดถึง 40% สูงกว่าอเมริการเหนือ และยุโรป จากปัจจุบันที่มีส่วนแบ่งที่ 29% 

“หลักสำคัญคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องพัฒนาและเติบโตไปด้วยกันโดยยึดถือประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ซึ่งประเทศไทยยังมีโอกาสที่จะเป็นฮับได้เพื่อขยายขีดความสามารถได้สอดคล้องและทันกับการเติบโต ซึ่งในภาวะรัฐบาลขณะนี้ยังไม่ส่งผลกระทบในการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 เพราะยังไม่ถึงขั้นตอนการอนุมัติ แต่ถ้าระยะยาวยังไม่มีรัฐบาลใหม่ก็อาจจะมีปัญหาได้ ส่วนปัญหาขาดทุนของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) นั้นต้องยอมรับว่าธุรกิจการบินภาคของสายการบินมีการแข่งขันสูงมากกว่าสนามบิน ดังนั้น การบินไทยจะต้องกำหนดกลยุทธ์ของตัวเองให้ชัดว่าจะเน้นตลาดไหนกันแน่เพราะปัจจุบันสายการบินต้นทุนต่ำมีการเปิดบินเส้นทางไกลมาแข่งขันแล้ว แล้วปรับกลยุทธ์เพื่อแข่งขัน ซึ่งการจัดตั้งสายการบินไทยสมายล์ขึ้นมาก็เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะสร้างความคล่องตัวในการแข่งขัน” นายชัชชาติกล่าว

นายวรเดช หาญประเสริญ อธิบดี บพ.กล่าวว่า ไทยเป็นฮับอยู่แล้ว เพราะมีผู้โดยสารทางอากาศสูงถึง 94 ล้านคนในปี 2013 รวมถึงมีผู้โดยสารเดินทางภายในประเทศเพราะมีสนามบินจำนวนมากขณะที่สิงคโปร์ไม่มี แต่ปัญหาของไทยคือการพัฒนาเพื่อขยายโครงสร้างพื้นฐานไม่ทันต่อสถานการณ์

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ บวท. กล่าวว่า ขณะนี้ปริมาณการจราจรทางอากาศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเติบโตอย่างมาก ซึ่งปีที่ผ่านมามีปริมาณการจราจรทางอากาศเพิ่มขึ้นเกือบ 20% โดยสุวรรณภูมิมีปริมาณการจราจรทางอากาศ 669,002 เที่ยวบินต่อปี และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 ล้านเที่ยวบินต่อปี ในปี 2030 และอยู่อันดับ 12 ของโลก โดยหากเปรียบเทียบห้วงอากาศของไทยที่มีขนาด 513,120 ตร.กม. กับอังกฤษที่มีพื้นที่ 243,610 ตร.กม. แต่มี 2,125,984 เที่ยวบินต่อปี และเยอรมนีที่มีพื้นที่ 351,168 ตร.กม.มี 2,952,624 เที่ยวบินต่อปี มากกว่าไทย 4-5 เท่าโดยไม่มีปัญหาเที่ยวบินล่าช้า ดังนั้นสนามบินสุวรรณภูมิยังมีโอกาสรองรับได้ถึง 3 ล้านเที่ยวบินต่อปี อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินจะต้องมีความสามารถในการรองรับและมีความปลอดภัย ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหา เช่น การจุดโคมยี่เป็ง งานบุญบั้งไฟที่ขณะนี้รุ่นใหม่ยิงขึ้นได้สูงกว่าเดิม รวมถึงมีปัญหาการรบกวนการสื่อสารของวิทยุชุมชน
กำลังโหลดความคิดเห็น