xs
xsm
sm
md
lg

แอร์พอร์ตลิงก์ปรับซ่อมใหญ่ 9 ขบวน เวลาจำกัดขอเจรจาตรงซีเมนส์ไม่อี-ออกชัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ซ่อมใหญ่ “แอร์พอร์ตลิงก์” 9 ขบวนชะงัก บอร์ด ร.ฟ.ท.ส่งแผนให้ คสช.ตรวจสอบก่อน เหตุวงเงินเกิน 100 ล้าน หลังบริษัทฯ แอร์พอร์ตลิงก์ขอเปลี่ยนวิธีจาก e-Auction เป็นเจรจาตรงกับซีเมนส์ พร้อมเพิ่มวงเงินจาก 300 ล้านเป็น 380 ล้านหลังรวมซื้อระบบเบรกเปลี่ยนใหม่ด้วย “ปลัดคมนาคม” จี้เร่งเคลียร์หวั่นซ่อมไม่ทันปลายปีอาจกระทบบริการ

นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ร่วมกันดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ (Over haul) รถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวนให้เรียบร้อยตามแผนที่จะครบรอบในปลายปีนี้ เพื่อไม่ให้มีปัญหาจนกระทบต่อการให้บริการ รวมถึงแผนการจัดหารถใหม่ 7 ขบวนด้วยเพื่อให้พร้อมรับจำนวนผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้น

พล.อ.อ.คำรบ ลียะวณิช รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แอร์พอร์ตเรลลิงก์ กล่าวว่า คณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้อนุมัติให้ดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่ตามวาระรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ทั้ง 9 ขบวน โดยวิธีการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2556 วงเงิน 300 ล้านบาท โดยเนื้องานไม่รวมงานซ่อมระบบเบรกของตัวรถไฟฟ้า เนื่องจากระบบเบรกของรถไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญโดยตรงต่อความปลอดภัย โดยเฉพาะรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่วิ่งให้บริการด้วยความเร็วสูงกว่ารถไฟฟ้าทั่วไป และเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อเฉพาะของผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงจากประเทศเยอรมนี (ซึ่งรถไฟฟ้าทุกสายในประเทศไทยต่างก็ใช้ระบบเบรกยี่ห้อนี้เช่นกัน) ในเบื้องต้นขณะนั้นจึงมีแนวคิดให้แยกซ่อมระบบเบรกออกมา โดยจะว่าจ้างเจ้าของผลิตภัณฑ์รายนั้นที่ประเทศเยอรมนีเป็นผู้ซ่อมเองโดยตรง

ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทฯ ได้ทำแผนซ่อมบำรุงใหญ่รถไฟฟ้า 9 ขบวนเสนอบอร์ด ร.ฟ.ทใหม่ โดยขอใช้วิธีพิเศษเจรจากับบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของระบบรถไฟฟ้าแทนวิธี e-Auction ที่บอร์ด ร.ฟ.ท.เคยอนุมัติไว้เดิม พร้อมทั้งขอเป็นผู้ดำเนินการเองเพื่อความรวดเร็ว รวมถึงปรับเพิ่มวงเงินจาก 300 ล้านบาทเป็น 380 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) เพื่อให้ครอบคลุมการซ่อมบำรุงทั้งระบบขับเคลื่อนและระบบเบรก เนื่องจากวงเงิน 300 ล้านบาทนั้นที่ปรึกษาได้ประเมินไว้แต่ไม่ครอบคลุมในส่วนของระบบเบรก ซึ่งตามคู่มือเมื่อใช้งานถึง 1.2 ล้านกิโลเมตรแล้ว จะต้องเปลี่ยนระบบเบรกใหม่ทั้งหมด โดยบอร์ด ร.ฟ.ท.ให้เสนอแผนไปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาก่อนเนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินเกิน 100 ล้านบาท

“ตามระยะเวลาหากประมูลจะไม่ทันกับกำหนดที่ต้องซ่อมบำรุงใหญ่ภายในปลายปีนี้ จึงต้องขอเปลี่ยนเป็นการเจรจาตรงกับซีเมนส์ โดยตามแผนทั้ง 9 ขบวนจะใช้เวลาซ่อมบำรุงรวมประมาณ 8 เดือน ซึ่งขณะนี้รถทั้ง 9 ขบวนสามารถให้บริการได้ครบไม่มีขบวนใดชำรุด โดยวิ่ง 8 ขบวน สำรอง 1 ขบวน มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4.5 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีผู้โดยสารเฉลี่ย 4 หมื่นคนต่อวัน คาดว่ารายได้ปี 2556 จะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนประมาณ 10% โดยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 45 ล้านบาท โดยในวันธรรมดามีผู้โดยสารประมาณ 5 หมื่นคน วันศุกร์ประมาณ 5.4 หมื่นคน เสาร์-อาทิตย์ประมาณ 3 หมื่นคน ส่วนรถไฟฟ้าด่วนมีผู้โดยสารเฉลี่ย 400 คนต่อวัน ลดลงจากก่อนหน้านี้เนื่องจากยกเลิกวิ่งพญาไท-สุวรรณภูมิ เหลือเส้นทางมักกะสัน-สุวรรณภูมิอย่างเดียว”

สำหรับการซ่อมบำรุงใหญ่ขบวนรถไฟฟ้านั้นจะต้องดำเนินการตามวาระ คือเมื่อรถไฟฟ้าผ่านการใช้งานถึงเกณฑ์ระยะทางหนึ่งที่กำหนด (อ้างอิงตามคู่มือปฏิบัติการและซ่อมบำรุง หมายเลข OPM 0035 Maintenance Plan ของผู้ผลิตรถไฟฟ้า) ซึ่งปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวนได้วิ่งให้บริการจนใกล้จะถึงเกณฑ์ระยะทางค่าที่กำหนดดังกล่าว จึงจำเป็นจะต้องเร่งดำเนินการซ่อมบำรุงใหญ่และงานซ่อมระบบเบรกพร้อมกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น