xs
xsm
sm
md
lg

“มิตรผล” นำร่องโซลาร์รูฟท็อป จี้จัดโซนนิ่งนำที่นาดอนปลูกอ้อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“กลุ่มมิตรผล” เปิดตัวนำร่องโซลาร์รูฟท็อป 1 เมกะวัตต์ที่มิตรผล ภูเขียว เปิดจ่ายไฟเข้าระบบแล้วต้น ก.ค.นี้ และพร้อมที่จะลงทุนเพิ่มหากรัฐเปิดรับซื้อเพิ่ม พร้อมเสนอรัฐบาลชุดใหม่เร่งจัดโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว โดยนำพื้นที่นาดอน 10 ล้านไร่ที่ไม่เหมาะปลูกข้าวมาปลูกอ้อย ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นมาก และมีน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงาน

นายประวิทย์ ประกฤตศรี กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียน กลุ่มมิตรผล เปิดเผยว่า ขณะนี้โครงการ “โซลาร์รูฟท็อป” ของบนหลังคาอาคารเก็บโมลาส ในบริเวณโรงไฟฟ้ามิตรผล ภูเขียว ขนาดกำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 56 ล้านบาทได้เปิดดำเนินการจ่ายไฟเข้าระบบแล้วเมื่อต้น ก.ค.นี้ ถือว่าเป็นโครงการนำร่องโซลาร์ รูฟท็อปของกลุ่มมิตรผล และยังเป็นโครงการแรกของโรงงานน้ำตาลในไทยด้วย

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความสามารถที่จะขยายการลงทุนโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นอีกหากรัฐบาลใหม่เปิดรับซื้อเพิ่มเติมจากเดิมที่รับซื้อจากโรงงานอุตสาหกรรม 100 เมกะวัตต์ โดยก่อนหน้านี้บริษัทได้ยื่นเสนอขายไฟจากโซลาร์รูฟท็อปไป 5 โครงการๆ ละ 1 เมกะวัตต์ แต่ได้รับเลือกเพียงโครงการเดียว

แม้ว่าบริษัทฯ จะรุกสู่ธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อป แต่ก็ไม่มีนโยบายที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์ม เนื่องจากต้องการนำพื้นที่มาเพาะปลูกอ้อยมากกว่าแล้วลงทุนโครงการต่อยอดจากโรงงานน้ำตาล โซลาร์รูฟท็อปเป็นการใช้พื้นที่ว่างบนหลังคามาใช้ประโยชน์ซึ่งมาร์จินธุรกิจนี้น้อย

ปัจจุบัน มิตรผลมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้ชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลอยู่ 6 โรง ที่จังหวัดสุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และเลย คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 411 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีโรงงานเอทานอลจากโมลาสอีก 3 โรง มีกำลังผลิตรวม 380 ล้านลิตรต่อปี

นายประวิทย์กล่าวต่อไปว่า จากนโยบายภาครัฐที่จะจัดโซนนิ่งพื้นที่เพาะปลูกข้าว หลังพบว่ามีพื้นที่ 27 ล้านไร่ที่ไม่เหมาะแก่การปลูกข้าวเพราะเป็นที่นาดอน ทำให้ได้ผลผลิตข้าวน้อยและรายได้เกษตรกรต่ำมาก หากนำพื้นที่ดังกล่าวมาปลูกอ้อยเพียง10ล้านไร่ จะทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 20 เท่า และมีผลผลิตอ้อยโดยรวมเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวมาอยู่ที่ 200 ล้านตันอ้อย ได้น้ำตาลป้อนตลาดเอเชียที่ยังมีความต้องการบริโภคอยู่อีกมาก ยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 เมกะวัตต์ และเอทานอลเพิ่มขึ้นเป็น 3 พันล้านลิตรต่อปี ทำให้ไทยก้าวเทียบชั้นบราซิลในการใช้พลังงานทดแทนได้ ขณะที่ต้นทุนการผลิตน้ำตาลและพลังงานหมุนของไทยต่ำกว่าบราซิล ดังนั้นจึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และมิตรผลเองก็พร้อมที่จะสนับสนุนส่งเสริมนโยบายรัฐอย่างเต็มที่

ปัจจุบันรายได้จกกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนคิดเป็น 20% ของรายได้กลุ่มมิตรผล และไม่มีแผนที่จะนำบริษัทมิตรผล หรือบริษัทย่อยเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เนื่องจากกลุ่มมิตรผลสามารถระดมทุนโดยออกหุ้นกู้ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น