xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคมชง คสช.คลอด พ.ร.บ.บริหารขนส่งฯ รับเปิด AEC ยันตั้งกรมรางแยกแอร์พอร์ตลิงก์ออกจาก ร.ฟ.ท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
คมนาคมเร่งยกร่าง พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง พ.ศ....ฉบับใหม่ เป็นกฎหมายกลางที่ทันสมัย และบูรณาการบังคับใช้ครอบคลุมทุกกิจกรรมการขนส่ง เตรียมสรุปเสนอ คสช.เห็นชอบ “ผอ.สนข.” หวังบังคับใช้ได้ทันเปิด AEC ชี้กฎหมายปัจจุบันล้าสมัยไม่เป็นมาตรฐานสากล พร้อมเดินหน้าตั้งกรมรางลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแทน ร.ฟ.ท.ที่จะทำหน้าที่เฉพาะเดินรถ

นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างพระราชบัญญัติบริหารการขนส่ง พ.ศ. ....” วันนี้ (25 มิ.ย.) ว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้บูรณาการระบบบริหารจัดการด้านการขนส่งที่กระจายอยู่ในกฎหมายต่างๆ ให้มีกฎหมายกลางที่จะบริหารจัดการ จัดกลุ่มภารกิจด้านนโยบาย การกำกับดูแล และการประกอบการให้ชัดเจน เพื่อให้สามารถเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการขนส่งได้ทุกกิจกรรมที่เพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมที่มีอยู่ รวมถึงการวางกรอบในการดำเนินกิจการขนส่งที่มีลักษณะเป็นพันธะในการให้บริการสาธารณะและการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการมีส่วนร่วมในโครงสร้างพื้นฐานและการประกอบการกิจการขนส่งที่ปรับโครงสร้างได้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ซึ่งจะสร้างความมั่นใจในมาตรฐานความปลอดภัย การบริการ และการสร้างบรรยากาศในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่โปร่งใสและเป็นธรรม

นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติหลักการ ร่างพระราชบัญญัติบริหารการขนส่ง พ.ศ. ....ตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2550 แล้ว โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนเกี่ยวกับรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ....ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับกฎหมายอื่น โดยการสัมมนาครั้งนี้จะได้ข้อสรุปและนำเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะมีการจัดตั้งขึ้นก่อนประกาศใช้ต่อไปโดยหลักการ พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง พ.ศ. .... นี้จะไม่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่ แต่จะเป็นกฎหมายใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้น เพื่อเป็นกฎหมายกลางที่มีความครอบคลุมและบังคับใช้กับทุกกิจกรรมการขนส่ง และรองรับกับการเปิดเสรีอาเซียน (AEC) ในปี 2558 ซึ่งจะมีรถและผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้ามาในประเทศมากขึ้น ดังนั้นจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องทุกเรื่องให้เป็นสากล และบังคับใช้

“กฎหมายด้านการขนส่งส่วนใหญ่ใช้มานานแล้วไม่สอดคล้องกับปัจจุบันที่สภาพตลาดเปลี่ยนแปลงไป การยกร่างใหม่และยกเลิกกฎหมายเดิมจะมีปัญหาเพราะมีกฎหมายลูกประกอบเกือบพันฉบับ จึงร่างกฎหมายกลางฉบับใหม่ขึ้นเป็นเครื่องมือเสริมกฎหมายเก่า หน่วยงานสามารถใช้กฎหมายใหม่ได้หากกฎหมายเดิมที่มีไม่ครอบคลุม” นายจุฬากล่าว

สำหรับ พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง พ.ศ. ....นี้จะมีคณะกรรมการนโยบายแห่งชาติบริหารนโยบาย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนการกำกับดูแลจะมีคณะกรรมการในแต่ละกลุ่ม คือ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบการขนส่งทางราง, ทางน้ำ, ทางอากาศ, การขนส่งมวลชน

ส่วนความคืบหน้าการจัดตั้งกรมรางนั้น ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมแล้ว ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการคู่ขนานไปกับ พ.ร.บ.บริหารการขนส่ง พ.ศ....โดยหลักการกรมรางจะทำหน้าที่ลงทุนด้านทางและรางเพื่อให้รัฐเป็นผู้รับภาระหนี้สินแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ซึ่งจะทำหน้าที่ให้บริการเดินรถเพียงอย่างเดียว โดยมีรถไฟและที่ดินเป็นทรัพย์สิน

ส่วนบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์นั้นจะมีการแยกออกจาก ร.ฟ.ท.โดยให้กระทรวงการคลังเข้ามาถือหุ้นแทน โดยรถไฟฟ้าจะเป็นทรัพย์สินของแอร์พอร์ตลิงก์ ส่วนโครงสร้างรางจะเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการมากกว่าปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น