กกต. มีมติผู้สมัคร ส.ว. ไม่ต้องแจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง แต่เรื่องร้องเรียนเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ยังดำเนินการต่อเหตุยึดโยงกับศาลยุติธรรม ขณะเดียวกัน ตีกลับนับ 100 เรื่องขอความเห็นชอบตาม รธน. 50 ม. 181 หลังมีมติไม่มีอำนาจพิจารณาแล้ว ทิ้งทวนก่อนรัฐประหาร อนุมัติงบเบี้ยเลี้ยงให้ ศรส. 2,309 ล้านบาท พร้อมสั่งเลื่อนเลือกตั้งท้องถิ่น 30 กว่าแห่งสุดสัปดาห์นี้
วันนี้ (27 พ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันนี้ ได้มีการพิจารณากรณีหลังมีการรัฐประหารและยกเลิกการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเรื่องที่หน่วยงานรัฐเสนอขอความเห็นชอบจาก กกต. ตามมาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญ โดยคงค้างการพิจารณามาก่อนการรัฐประหารประมาณ 100 กว่าเรื่อง กกต. จะดำเนินการอย่างไร โดยที่ประชุมมีมติเห็นว่า กกต. ไม่มีอำนาจพิจารณาแล้ว และให้ทางสำนักงานส่งเรื่องค้างดังกล่าวกลับไปยังหน่วยงานที่เสนอเรื่อง ขณะเดียวกัน กรณีเรื่องที่ กกต. มีมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ก่อนที่จะมีการรัฐประหารนั้น ก็ให้ทางสำนักงานเร่งแจ้งไปยังหน่วยงานดังกล่าวทราบโดยเร็ว อย่างเช่น กรณีที่ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) ได้ขอความเห็นชอบใช้งบกลางจำนวน 2,309 ล้านบาท เพื่อจ่ายเป็นค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงานที่ ศรส. กกต. ก็ได้เห็นชอบไปเมื่อวันที่ 21 พ.ค. หลังจากทางสำนักงบประมาณมีหนังสือแจ้งยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรมาว่า หน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ถูกส่งมาปฏิบัติหน้าที่ที่ ศรส. สามารถจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงให้กับผู้ปฏิบัติงานไปก่อนได้แล้วจึงค่อยมาทำเรื่องของอนุมัติภายหลังได้
อีกทั้งที่ประชุม กกต. ยังมีมติว่า ผู้สมัคร ส.ว. จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 30 มี.ค. ไม่ต้องแจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง เนื่องจาก พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. สิ้นผลไป แต่ในส่วนของเรื่องร้องเรียนร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ที่ประชุม กกต. มีมติให้ดำเนินการสืบสวนต่อไป เนื่องจากแม้ พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. จะสิ้นผลไป แต่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 24 ให้ พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ยังคงอยู่ กกต. จึงต้องปฏิบัติหน้าที่ตามที่ พ.ร.บ. กกต. กำหนด ขณะเดียวกัน กฎหมายก็กำหนดให้การดำเนินการของ กกต. ในกรณีนี้ยึดโยงกับศาลยุติธรรม และเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้าน กกต. ได้เริ่มพิจารณาไปแล้ว จึงเห็นว่าเพื่อเลี่ยงต่อการถูกตีความฐานละเว้น กกต. ต้องสืบสวนสอบสวนกรณีเรื่องร้องเรียน ร้องคัดค้านต่อไป และหากเห็นว่ามีมูลความผิดต้องเสนอเพิกถอนสิทธิ หรือสั่งเลือกตั้งใหม่ ก็ให้ส่งศาลยุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัย หากศาลฯ เห็นว่า กกต. หรือศาลไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากเหตุมีการยกเลิกกฎหมายเลือกตั้งไปแล้ว ก็ย่อมเป็นที่สุด ไม่มีผู้ใดโต้แย้งได้
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงสุดสัปดาห์นี้ราว 30 กว่าแห่ง ที่ประชุม กกต. มีมติให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อน เพื่อให้สอดคล้องกับประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยในการประชุม กกต. วันพรุ่งนี้ (28 พ.ค.) ทางสำนักงาน กกต. จะมีการเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาว่าจะเลื่อนเป็นเวลา 30 วัน หรือ 45 วัน ตามที่เคยปฏิบัติก่อนหน้านี้