บี.กริมฯ เทกโอเวอร์ 2 โรงไฟฟ้าของไซม์ ดาร์บี้ฯ ที่แหลมฉบัง กำลังผลิตรวม 163 เมกะวัตต์ มูลค่า 5.3 พันล้านบาท นับเป็นครั้งแรกในการซื้อกิจการโรงไฟฟ้าของ บี.กริม จากเดิมเน้นพัฒนาโครงการเอง หวังเป้าผลิตครบ 5,000 เมกะวัตต์ใน 5 ปีนี้ โดยจะเร่งหาโครงการใหม่ทั้งในและต่างประเทศเพิ่มอีก 3 พันเมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ มองโอกาสทั้งพม่า ญี่ปุ่น และไทย พร้อมเข็นบริษัทลูก “บี.กริม เพาเวอร์” เข้าตลาดฯ ใน 2 ปีข้างหน้า
นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) อันดับต้นของไทย เปิดเผยภายหลังการลงนามสัญญาซื้อโรงไฟฟ้า 2 โรง ที่นิคมฯ แหลมฉบังจากบริษัท ไซม์ ดาร์บี้ พีทีอี เอนเนอร์จี จำกัด โดยมีธนาคารซีไอเอ็มบีเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน วันนี้ (16 มิ.ย.) ว่า การซื้อกิจการโรงไฟฟ้าจากไซม์ ดาร์บี้ฯ ทั้ง 2 โรง กำลังการผลิตรวม 163 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 5,300 ล้านบาท นับเป็นอีกก้าวหนึ่งในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าของกลุ่ม บี.กริม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 5,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2562 จากเดิมที่บริษัทฯ เน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าเอง ทำให้การขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าอาจไม่รวดเร็ว เพราะต้องขึ้นกับนโยบายรัฐในการรับซื้อไฟฟ้าด้วย
ทั้งนี้ บริษัทฯ มีแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้า SPP ให้ครบทั้ง 16 โรงในปี 2562 คิดเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 2,000 เมกะวัตต์ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ทำไว้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ดำเนินการโรงไฟฟ้าเสร็จไปแล้ว 6 โรง กำลังการผลิตรวม 733 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าอื่นๆ จะทยอยแล้วเสร็จ โดยกำลังการผลิตใหม่ที่ต้องมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มอีก 3,000 เมกะวัตต์นั้น บริษัทฯ ก็มองหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการใช้เงินลงทุนที่สูงในอนาคตอันใกล้นี้ บี.กริมมีแผนที่จะนำบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด เข้าระดมทุนเสนอขายหุ้น IPO ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมทั้งอาจนำโรงไฟฟ้าใหม่ทั้ง 2 โรงขายเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้าอมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ABPIF)
นายฮาราลด์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้บริษัทให้ความสำคัญในการลงทุนโรงไฟฟ้าในพม่า หลังจากบริษัทฯ ได้เข้าร่วมประมูลสร้างโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซฯ เป็นเชื้อเพลิงขนาด 220 เมกะวัตต์ที่ “Myingan” ประเทศพม่า คาดว่าจะรู้ผลสรุปผู้ชนะประมูลในเดือน ก.ย.นี้ นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจากับซูมิโตโม ซึ่งเป็นพันธมิตรของเดิมของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้า กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ในนิคมฯ ติลาวาเฟส 2 เบื้องต้นอาจเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เพราะพื้นที่ติดกับแม่น้ำทำให้การขนส่งถ่านหินทำได้สะดวกกว่าการใช้ก๊าซฯ ที่ยังมีความเสี่ยงจากปริมาณก๊าซฯ ที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า
นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เจรจากับพันธมิตรท้องถิ่นในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่นด้วย แต่ยังไม่มีข้อสรุป รวมทั้งหาโอกาสลงทุนโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่นอร์เวย์ด้วย ส่วนที่เวียดนามยังไม่มีแนวคิดที่จะลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม แม้ว่าบริษัทฯ จะมีโรงไฟฟ้าอยู่ในนิคมฯ อมตะ เบียนหัว กำลังผลิต 60 เมกะวัตต์แล้ว เนื่องจากนโยบายการคำนวณค่าไฟฟ้ามีการเปลี่ยนแปลงทุก 1-2 ปี ทำให้มีความเสี่ยงด้านการลงทุน
ส่วนในไทยนั้น บริษัทฯ มีแผนจะลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมที่จังหวัดมุกดาหาร เบื้องต้นจะผลิตไฟฟ้า 16 เมกะวัตต์ หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 40 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอใบอนุญาตในการลงทุนโครงการดังกล่าว คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 พันล้านบาทสำหรับโรงไฟฟ้าพลังลมขนาด 14 เมกะวัตต์
นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมกิจการโดยซื้อหุ้นทั้งหมดของไซม์ ดาร์บี้ เพาเวอร์ จำกัด บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ แอลพีซี เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท ไซม์ ดาร์บี้ โอ แอนด์เอ็ม (ประเทศไทย )จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไซม์ ดาร์บี้ เอนเนอจี้ จำกัด ทำให้รายได้ของบริษัท บี.กริม เพาเวอร์เติบโตขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เดิมในปีนี้ที่ 1.9 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 2.32 หมื่นล้านบาท และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 1.3 พันล้านบาทเป็น 1.52 พันล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการแล้วเพิ่มขึ้นจาก 6 โรง เป็น 8 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตจาก 733 เมกะวัตต์ เป็น 896 เมกะวัตต์
การตัดสินใจซื้อโรงไฟฟ้าจากไซม์ ดาร์บี้ฯ นี้ เนื่องจากบริษัทมองเป็นการเพิ่มมูลค่า เนื่องจากเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้เครื่องจักรเหมือนกับโรงไฟฟ้าของ บี.กริม อยู่แล้ว ทำให้สามารถใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้ระหว่างกัน และมีพนักงานที่มีความรู้ความสามารถธุรกิจไฟฟ้าเข้ามาเสริมด้วย อีกทั้งสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าวเหมาะสมมีลูกค้ารายใหญ่หลายรายทำให้มีโอกาสที่จะขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ แม้ว่าโรงไฟฟ้าดังกล่าวจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เหลืออยู่ 8 ปีและ 20 ปีตามลำดับ แต่ก็สร้างรายได้ให้บริษัทพอคุ้มค่า
สำหรับแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการซื้อโรงไฟฟ้านี้ เบื้องต้นจะกู้เงินระยะสั้น (Bridge Loan) จากสถาบันการเงินทั้งจำนวน หลังจากนั้นจะให้สถาบันการเงินยื่นข้อเสนอแผนโปรเจกต์ ไฟแนนซ์มาให้บริษัทฯ พิจารณาคัดเลือกในปลายปีนี้
ด้าน Dato’ Ir Jauhari hamidi รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค บริษัท ไซม์ ดาร์บี้ กล่าวว่า การขายโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งในไทย ไม่ได้เป็นการถอนธุรกิจออกจากไทยแต่อย่างใด เป็นเพียงการเปลี่ยนโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อเน้นธุรกิจหลัก เนื่องจากปัจจุบันบริษัทยังมีหลายธุรกิจที่อยู่ในไทย เช่น ธุรกิจปาล์มน้ำมัน ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์รายใหญ่ในไทย เช่น ฟอร์ด มาสด้า และบีเอ็มดับเบิลยู เป็นต้น