ทอท.เตรียมลงทุนกว่า 1.85 หมื่นล้านขยายพื้นที่บริการ ทั้งดอนเมืองและสนามบินภูมิภาค สร้างรายได้ Non Aero เพิ่ม 1.1 หมื่นล้านในปี 65 ผุดตึก AOP เป็น Community Mall อาณาจักรคนแอร์ไลน์-แอร์พอร์ต ข้างสำนักงานใหญ่ใช้พื้นที่แนวดิ่งเกิดประโยชน์สูงสุด ฟุ้งสภาพคล่อง ใช้เงินทุนเป็นหลัก คาดปี 65 มีกำไรสุทธิ 8 พันล้าน
นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ทอท.เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา มีมติเห็นชอบในหลักการ แผนการลงทุนโครงการขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง สำนักงานใหญ่ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย วงเงินรวม 18,567 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินงานปี 2558-2562 โดยคาดว่าการลงทุนในส่วนนี้จะสร้างรายได้เพิ่มในส่วนของ Non Aero ให้ ทอท.ในปี 65 ถึง 11,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 8,000 ล้านบาท
โดยจะเป็นการขยายบริการท่าอากาศยาน DIY ในรูปแบบ Airport City ประกอบด้วย 1. ท่าอากาศยานภูเก็ต ระยะแรกขยายพื้นที่บริเวณลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารภายในประเทศเพื่อลดความแออัด วงเงินลงทุน 262 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารบริการผู้โดยสารเพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในลักษณะ Do It Your Self และบริการตอบสนอง Lifestyle ของผู้ใช้บริการ วงเงินลงทุน 4,080 ล้านบาท 2. ท่าอากาศยานดอนเมืองปรับปรุงคลังสินค้า 3, 4 เพื่อเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกการให้บริการแบบ DIY พื้นที่ประมาณ 300,000 ตารางเมตร วงเงินลงทุน 9,000 ล้านบาท ส่วนสำนักงานใหญ่จะมีการก่อสร้างเป็น Airport Operation Park (AOP) รูปแบบ Community Mall เพื่อให้บริการสำนักงานสำหรับสายการบินแบบครบวงจร พื้นที่ใช้สอยประมาณ 200,000 ตารางเมตร 3. การขยายท่าอากาศยานภูมิภาคอีกประมาณ 225 ล้านบาท
นายเมฆินทร์กล่าวว่า ตามแผน ทอท.จะใช้เงินลงทุนของ ทอท.เองเป็นหลัก เนื่องจากขณะนี้ทั้งกำไรและเงินสดในมือถือว่ามีสภาพคล่องสูง สามารถลงทุนได้ โดยประเมินว่าในปี 59-61 ทอท.จะขาดสภาพคล่องรวม 65,120 ล้านบาท คือ 34,190 ล้านบาท 25,270 ล้านบาท และ 5,660 ล้านบาทตามลำดับ โดยอาจจะมีการกู้เพิ่มเติมบ้างในปี 59 และจะคืนทุนในเวลาอันรวดเร็วเนื่องจากโครงการมีผลตอบแทนทางการลงทุน (IRR) ถึง 30% และ ทอท.จะหาลูกค้าให้ได้ก่อนโครงการเสร็จ 1 ปี และจะทำให้สัดส่วนรายได้ระหว่าง Non Aero : Aero จากปี 57 ที่ 38:62 เป็น 46:54 ในปี 63
“โครงการที่ดอนเมืองจะรองรับการขยายตัวในอนาคตที่คาดว่าสายการบินต้นทุนต่ำจะเติบโตมากขึ้น และจะมีโครงการระบบรถไฟสายสีแดงเป็นตัวเชื่อมกับฝั่งท่าอากาศยานดอนเมืองและการเดินทางเข้าเมือง”
นอกจากนี้ ทอท.ยังอยู่ระหว่างเตรียมโครงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกด้าน Aero ในปี 58-64 ซึ่งจะสรุปแผนชัดเจนในปี 57 ประกอบด้วย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (58-61) วงเงินลงทุนรวม 7,933 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารด้านทิศตะวันออก และงานปรับปรุงอาคารผู้โดยสาร วงเงินลงทุน 2,143 ล้านบาท ก่อสร้างระบบสายพานลำเลียงกระเป๋าสัมภาระขาเข้า วงเงินลงทุน 2,860 ล้านบาท งานซ่อมแซมทางวิ่ง/ทางขับ (รันเวย์/แท็กซี่เวย์) วงเงินลงทุน 2,930 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ วงเงินลงทุน 12,500 ล้านบาท หรือก่อสร้างเฟส 3 (60-64) ลงทุน 16,790 ล้านบาท ก่อสร้าวรันเวย์ที่ 3 วงเงิน 15,420 ล้านบาท รองรับ 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง
ท่าอากาศยานดอนเมืองเฟส 3 (58-59) ลงทุน 7,000 ล้านบาท ขยายขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปีเป็น 40 ล้านคนต่อปี และอยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงต่อหัวรันเวย์เพื่อรองรับเที่ยวบินได้เพิ่ม และผู้โดยสารเพิ่มเป็น 60 ล้านคนต่อปี ลงทุนอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท