xs
xsm
sm
md
lg

สุวรรณภูมิจ่อทยอยเปลี่ยนผิวแท็กซี่เวย์เป็นคอนกรีต เผยยางแอสฟัลต์สู้ปัญหาน้ำซึมใต้ดินไม่ไหวชำรุดบ่อย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทอท.เตรียมแผนเปลี่ยนผิวแท็กซี่เวย์สุวรรณภูมิจากยางแอสฟัสต์เป็นคอนกรีต หลังผลศึกษาพบช่วยแก้ปัญหาระยะยาว ลดค่าซ่อม เหตุน้ำใต้ดินซึมทะลุผิวยางแก้ไม่ตก โดยเฉพาะจุดวงเลี้ยวของเครื่องบินที่ชำรุดซ้ำซาก ส่วนรันเวย์และหลุมจอดยังต้องรอประเมิน “รอง ผอ.สุวรรณภูมิ” เผยต้องเสนอบอร์ดพิจารณาข้อดีข้อเสียด้านเทคนิคและคดีความที่อนุญาโตฯ ยังไม่ชี้กรณีฟ้องร้อง 3 ฝ่าย

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทอท.มีแนวคิดในการปรับปรุงพื้นผิว ทางขับ (แท็กซี่เวย์) บางส่วนของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากพื้นยางแอสฟัลต์เป็นคอนกรีต โดยเน้นจุดที่มีการใช้งานหนัก และเกิดการชำรุดบ่อย ซ้ำซาก เช่น จุดวงเลี้ยวเครื่องบินที่มีน้ำหนักกดทับสูง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าควรปรับปรุงพื้นผิวเป็นคอนกรีตเพื่อความเหมาะสมเนื่องจากพื้นผิวคอนกรีตจะมีความคงทนมากกว่าแอสฟัลต์ ขณะที่หลุมจอดจากการศึกษาพบว่ายังไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยน ส่วนทางวิ่ง (รันเวย์) นั้นยังไม่สรุปผลศึกษา เนื่องจากต้องประเมินภาพรวมทั้งระบบ เช่น เรื่องการซ่อมบำรุงใหญ่ (overhaul) และช่วงเวลาการซ่อมที่ไม่กระทบต่อการให้บริการ

“แท็กซี่เวย์ได้ข้อสรุปแล้วว่าจะปรับบางส่วนเป็นคอนกรีต รอเรื่องกรอบวงเงินก่อน ซึ่งต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ต้นทุนพื้นคอนกรีตจะแพงกว่ายางแอสฟัลต์ แต่ปัจจุบันไม่ต่างกันมากแล้ว ส่วนหลุมจอดกับรันเวย์นั้นยังไม่สรุปว่าจะปรับด้วยหรือไม่ เพราะหลักการพิจารณาจะต้องประเมินเรื่องคุณภาพและเทคโนโลยีของวัสดุที่จะใช้และเวลาในการซ่อมบำรุง ดูทุกมิติให้สอดคล้องกัน นโยบายขณะนี้คือติดตามสภาพการใช้งานและการซ่อมบำรุงทุกสัปดาห์” นายเมฆินทร์กล่าว

นาวาอากาศเอก สมัย จันทร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สายปฏิบัติการ กล่าวว่า ตามแผนการซ่อมบำรุงแท็กซี่เวย์ รันเวย์ และหลุมจอด ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิซึ่งแบ่งเป็นแผนระยะสั้นเป็นการซ่อมแซมเฉพาะกิจฉุกเฉินตามสภาพชำรุดเพื่อประทังให้สามารถใช้งานได้ ซึ่งมีการตั้งงบประมาณปี 2557 ไว้แล้ว แผนระยะกลาง เป็นการซ่อมแซมเพื่อให้มีอายุการใช้งานที่ยาวขึ้นประมาณ 1-2 ปี และแผนระยะยาว เป็นการศึกษาแนวคิดปรับจากผิวแอสฟัลต์เป็นคอนกรีต ซึ่งขณะนี้ฝ่ายวิศวกรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิอยู่ระหว่างการออกแบบเพื่อสรุปและนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท.พิจารณาต่อไป เพื่อยืดอายุการใช้งานที่ยาวขึ้นและประหยัดค่าซ่อมบำรุง

โดยมี 2 ประเด็นหลักคือ 1. พิจารณาผลการศึกษาที่เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการออกแบบเปลี่ยนเป็นพื้นผิวคอนกรีตจากเดิมพื้นผิวยางแอสฟัลต์ หนา 33 ซม. ซึ่งมีปัญหาน้ำซึมใต้ดินผ่านชั้นหินคลุกผสมซีเมนต์ (CTB หรือ Cement Treated Base) หนา 72 ซม.ทำให้ชั้นผิวยางด้านบนชำรุด ซึ่งการถูกกระแทกและกดทับจากน้ำหนักเครื่องบินทำให้เกิดความเสียหายทุกวัน การซ่อมที่ผ่านมาหลายปีพบว่าไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้

2. พิจารณาด้านคดีความว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ เนื่องจากกรณีรันเวย์ชำรุดยังอยู่ในกระบวนการทางอนุญาโตตุลาการที่มีการฟ้องร้องกัน โดยมีผู้เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ประกอบด้วยผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ออกแบบ และผู้ควบคุมงาน

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานขณะนี้ได้ตั้งวอร์รูมรวมศูนย์ฝ่ายซ่อมบำรุงและฝ่ายปฏิบัติการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อบูรณาการการทำงาน การบริหารจัดการ การใช้งานรันเวย์ แท็กซี่เวย์ หลุมจอด ให้สอดคล้องกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น