xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ปลดค่าโง่ คดี"โฮปเวลล์ เคลียร์1.2พันล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ที่วินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ต้องชดใช้ค่าเสียหาย 12,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้กับ บริษัทโฮปเวลล์ จำกัด กรณีกระทรวงคมนาคม บอกเลิกสัญญาสัมปทาน
โดยคดีดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท.) ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการในกรณีพิพาทการบอกเลิกสัญญาระหว่างกระทรวงคมนาคมและรฟท. กับ บริษัท โฮปเวลล์ ( ประเทศไทย) จำกัด คู่สัญญาสัมปทานระบบขนส่งทางรถไฟ และถนนยกระดับในกรุงเทพมหานคร และการใช้ประโยชน์ที่ดินของรฟท. ซึ่งอนุญาโตฯวินิจฉัยให้กระทรวงคมนาคม - รฟท. ชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้บจก.โฮปเวลล์ จากการบอกสัญญาไม่เป็นธรรม
ส่วนที่ศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฯ ระบุว่า พิเคราะห์ข้อเท็จจริง ประกอบข้อกฎหมายแล้ว เห็นว่าการที่ทั้ง บจก.โฮปเวลล์ฯ และกระทรวงคมนาคมกับรฟท. ต่างยื่นเรื่องให้คณะอนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทนั้น เป็นการยื่นเรื่องให้วินิจฉัยที่เกินกรอบระยะเวลา 60 วันที่กำหนดไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ 31 และระยะเวลาการยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายในระยะเวลาสูงสุด 5 ปี ตาม มาตรา 50 และ 51 พ.ร.บ.จัดตั้งศาล ปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า กระทรวงคมนาคม และ รฟท.ได้บอกเลิกสัญญา กับบจก.โฮปเวลล์ วันที่ 27 ม.ค. 41 ดังนั้น หากจะยื่นเรื่องอนุญาโตฯวินิจฉัยต้องกระทำภายในวันที่ 27 ม.ค. 46 ภายหลังจากที่ทั้ง 2 ฝ่ายรับทราบเรื่องการบอกเลิกสัญญา
เมื่อปรากฏว่าทั้ง 2 ฝ่าย ยื่นเรื่องให้ อนุญาโตฯวินิจฉัยหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวตามกฎหมายแล้ว อนุญาโตฯจึงไม่มีอำนาจที่รับเรื่องไว้วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งการที่อนุญาโตฯ มีคำวินิจฉัยเรื่องนี้ออกมา ในวันที่ 30 ก.ย.51 ที่ให้กระทรวงคมนาคม และรฟท. ต้องจ่ายเงินค่าเสียหายให้ บจก.โฮปเวลล์ เนื่องจากบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม และคำวินิจฉัยขี้ขาด เมื่อวันที่ 15 ต.ค.51 ที่อนุญาโตตุลาการ วินิจฉัยไม่รับคำร้องกระทรวงคมนาคม และรฟท. เนื่องจากเห็น ว่ากระทรวงคมนาคมและรฟท.บอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับ บจก.โฮปเวลล์ นั้น จึงถือเป็นกรณีที่มีการวินิจฉัยที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
ดังนั้นศาลปกครอง ที่มีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทสัญญาทางปกครอง จึงมีอำนาจเพิกถอน หรือปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้ จึงมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตฯ วันที่ 30 ก.ย. 51 และ 15 ต.ค.51 ทั้งฉบับและให้ปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ดีตามกฎหมาย คู่ความยังสามารถยื่นอุทธรณ์คดี ต่อศาลปกครองสูงสุดได้อีกภายใน 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น